การพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพื่อนำมาใช้ในงานด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เครื่องสแกนเนอร์ความปลอดภัย ที่ติดตั้งเทคโนโลยีการถ่ายภาพด้วยคลื่นความถี่ระดับมิลลิเมตร (millimeter wave imaging) ที่ท่าอากาศยานต่างๆ ในจีน เช่น กรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ และเมืองชิงเต่าในมณฑลซันตง
๑.๑ เครื่องสแกนเนอร์ความปลอดภัยที่ติดตั้งเทคโนโลยีนี้ จะตรวจสอบวัตถุที่ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้า รวมทั้งวัตถุที่ไม่ใช่โลหะ โดยภาพที่ปรากฏจะแสดงตำแหน่ง ขนาด และความแหลมคมของวัตถุ
๑.๒ อุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่นี้ จะไม่ทำลายสุขภาพ โดยความเข้มข้นของการแพร่กระจาย น้อยกว่าหนึ่งในพันส่วนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ และยังช่วยให้การตรวจสอบความปลอดภัย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๒. ระบบเทคโนโลยีการตรวจจับและรู้จำใบหน้า (Facial Recognition) ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
๒.๑ มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ติดตั้งระบบเทคโนโลยีการตรวจจับและรู้จำใบหน้า (Facial Recognition) บริเวณประตูหน้า เพื่อตรวจสอบผู้เดินเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนหลายแห่งมักห้ามไม่ให้บุคคลทั่วไปเข้าชมมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการรบกวนบรรยากาศการเรียนการสอนของเหล่าหัวกะทิ จึงกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเดินเข้าประตูแสดงบัตรนักศึกษาเสียก่อน
๒.๒ เมื่อวันพุธที่ ๒๗ มิ.ย.๖๑ มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้เริ่มทดลองใช้ระบบตรวจสอบใบหน้าอัจฉริยะ แทนที่การตรวจบัตรนักศึกษา โดยใช้ฐานข้อมูลรูปภาพนักศึกษาจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเปรียบเทียบใบหน้า ซึ่งในรายงานระบุว่า ระบบดังกล่าวยังมีข้อจำกัด เนื่องจากระบบใช้รูปภาพนักศึกษาจากฐานข้อมูลบัตรนักศึกษา ซึ่งบางรายมีรูปภาพที่ไม่ชัด และสภาพแสงน้อยในตอนกลางคืนอาจทำให้ระบบฯ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยปักกิ่งประกาศว่า หากรูปของนักศึกษาคนใดที่มีภาพไม่ชัดเจนเพียงพอหรือรูปหน้ามีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว ก็ยื่นคำร้องขอถ่ายภาพใหม่ได้
๒.๓ ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ติดตั้งระบบดังกล่าวเพื่อตรวจบุคคลที่จะเข้าห้องสมุด ห้องเรียน หอพักนักศึกษา โรงออกกำลังกายและศูนย์คอมพิวเตอร์แล้ว
๓. อาวุธปืนเลเซอร์ ZKZM-500 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีต้นแบบสัญชาติจีน มีขนาดลำกล้อง ๑๕ มิลลิเมตร หนักราว ๓ กิโลกรัม มีระยะยิงหวังผลอยู่ที่ ๘๐๐ เมตร สามารถติดตั้งบนยานพาหนะเคลื่อนที่ต่างๆ อาทิ รถยนต์ เรือ และเครื่องบิน
๓.๑ นักวิจัยผู้พัฒนา และร่วมทดสอบปืนเลเซอร์ต้นแบบ แห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ประจำมณฑลส่านซี กล่าวว่า อาวุธปืนเลเซอร์นี้ จะยิงลำแสงพลังงานอันไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทะลุผ่านหน้าต่าง และเผาไหม้วัตถุเป้าหมายที่ติดไฟได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายอาวุธปืนที่คนทั่วไปเคยรู้จักจากจินตนาการในภาพยนต์ Star Wars ที่กองทหาร Storm Trooper ใช้ โดยสามารถเผาไหม้เป้าหมาย ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที และหากเป้าหมายเป็นมนุษย์เสื้อผ้าก็จะโดนเผาไหม้คลอกร่างกาย
๓.๒ เนื่องจากเลเซอร์ได้รับการปรับความถี่ จนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและไม่มีเสียง จึงไม่มีใครรู้ว่าการโจมตีเกิดขึ้นจากที่ใด และอาจจะอำพรางการโจมตีให้เข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุ โดยปืนจู่โจมลำแสงเลเซอร์นี้ ใช้พลังงานแบตเตอรี่ลิเธียมแบบชาร์จไฟได้เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ที่พบในสมาร์ทโฟน สามารถยิง "กระสุนแสง" ได้มากกว่า ๑,๐๐๐ นัด แต่ละนัดใช้เวลาเฉลี่ย ๒ วินาที
๓.๓ ปืนต้นแบบสร้างขึ้นโดย ZKZM Laser ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีในเมืองซีอาน โดยตัวแทนของบริษัทฯ ยืนยันว่าขณะนี้ บริษัท กำลังแสวงหาคู่ค้าที่มีใบอนุญาตผลิตอาวุธ หรือหุ้นส่วนในอุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัย หรือการป้องกันประเทศเพื่อเริ่มต้นการผลิตจำนวนมาก โดยตั้งราคาไว้ที่ ๕๐๐,๐๐๐ บาท (๑๐๐,๐๐๐ หยวน) ต่อกระบอก ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้ผิดวัตถุประสงค์ การออกแบบและการผลิตอุปกรณ์จึงต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและลูกค้ารายเดียวเท่านั้นที่จะซื้อได้คือ หน่วยงานทหารและตำรวจของประเทศจีน
๓.๔ โดยในรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้พร้อมแล้วสำหรับการผลิตเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะเริ่มใช้โดยเจ้าหน้าที่กองกำลังตำรวจจีน กลุ่มต่อต้านการก่อการร้ายในสถานการณ์ช่วยเหลือตัวประกัน ปืนนี้ยังสามารถใช้ยิงผ่านหน้าต่างที่ปิดมิดชิด นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติการทางทหารอย่างลับๆ เพราะลำแสงมีพลังมากพอที่ยิงถังแก๊สและจุดที่เก็บเชื้อเพลิงในสนามบินทหาร เป็นต้น
บทสรุป
รัฐบาลจีนมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ดังกล่าวควบคู่กับกรอบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชาติตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายหลักที่จะสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จในระยะยาว โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในงานด้านความมั่นคงเช่น เครื่องสแกนเนอร์ความปลอดภัยที่ใช้ตามท่าอากาศยานต่างๆ รวมทั้งระบบเทคโนโลยีการตรวจจับและรู้จำใบหน้า และอาวุธปืนเลเซอร์ ดังกล่าวในข้างต้น ซึ่งในระยะแรกหลังจากการเปิดประเทศในยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง จีนใช้กลยุทธดึงให้ต่างชาติมาลงทุนในจีน เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการออกแบบจากต่างชาติ โดยในระยะต่อมา จีนจึงได้ใช้หน่วยงานเหล่านี้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับบริษัทผู้ผลิตของจีนอีกต่อหนึ่ง และนับตั้งแต่ปี ๒๐๐๖ (พ.ศ.๒๕๔๙) จีนจึงปรับเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการสร้างเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมของตนเองแทน อาศัยการองค์ความรู้ที่สะสมมาแต่เดิมและที่ได้รับการถ่ายทอดจากตะวันตกหลังเปิดประเทศ ทำการวิจัยพัฒนาผ่านทางหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลกลางและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและของภาคเอกชน โดยหน่วยงานวิจัยเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการถ่ายทอดงานวิจัยให้กับบริษัทผู้ผลิตของจีน จนสามารถออกแบบสินค้าภายใต้แบรนด์เนมของจีนเอง และทำให้จีนมีความพร้อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในงานด้านความมั่นคงของประเทศ
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://mgronline.com/china/detail/9610000064268
https://mgronline.com/china/detail/9610000065169
https://mgronline.com/china/detail/9610000066271
https://www.digitalupdatebysura.com/.../กลยุทธสร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเท...