bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันศุกร์ที่ ๗ ธ.ค.๖๑ : มาตรการสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศจีนเกิดการปฏิรูปที่ลึกซึ้ง

มาตรการสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศจีนเกิดการปฏิรูปที่ลึกซึ้ง จนทำให้เกิดแรงกระตุ้นต่อการพัฒนาประเทศของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ข้อมูลสถิติที่เปรียบเทียบผลในรอบ ๔๐ ปี แห่งการปฏิรูปเปิดประเทศของจีน จากเมื่อปี ๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๕๒๑) ภายใต้การริเริ่มของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเป็นผู้นำจีนในยุคสมัยนั้น ซึ่งจีนได้เริ่มใช้นโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศ โดยเริ่มต้นจากชนบทและค่อยๆ ใช้ในตัวเมืองต่าง ๆ เริ่มต้นจากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจพัฒนาเป็นการปฏิรูปอย่างรอบด้าน ที่มุ่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยกระดับสู่การมีกินมีใช้ และค่อยๆ ร่ำรวยขึ้น อันได้แก่
        ๑.๑ GDP ของจีนเติบโตจาก ๐.๓๖๔๕ ล้านล้านหยวนเมื่อปี ๑๙๗๘ (พ.ศ.๒๕๒๑) เป็น ๘๒.๗ ล้านล้านหยวนในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐)
        ๑.๒ GDP เฉลี่ยต่อคนเติบโตจาก ๓๘๕ หยวนเมื่อปี ๑๙๗๘ เป็น ๕๙,๖๖๐ หยวนในปี ๒๐๑๗ เฉลี่ยแล้วเติบโตปีละ ๙.๕%
        ๑.๓ อัตราความยากจนในชนบทลดลงจาก ๙๗.๕% เมื่อปี ๑๙๗๘ เป็น ๓.๑% ในปี ๒๐๑๗ เป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับโดยเฉลี่ยของโลกอย่างมาก
        ๑.๔ อัตราได้รับการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีการดำเนินนโยบายการศึกษาภาคบังคับ ๙ ปีอย่างกว้างขวาง อัตราการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในปี ๒๐๑๗ อยู่ที่ประมาณ ๔๕.๗% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกเกือบ ๑๐%
        ๑.๕ สุขภาพของชาวจีนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชาชนอยู่ที่ ๗๖.๗ ปีในปี ๒๐๑๗ สูงกว่าระดับเฉลี่ยของโลก
        ๑.๖ จีนได้สร้างเครือข่ายทางด่วน เครือข่ายรถไฟความเร็วสูง และอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก มีประชากรรายได้ระดับปานกลางจำนวนมากที่สุดของโลก โดยสร้างเครือข่ายประกันสังคมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เศรษฐกิจจีนเป็น ๑๕% ของเศรษฐกิจโลก มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่า ๓๐% และกลายเป็นแรงกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ

๒. นายจอห์น ไนส์บิทต์ (John Naisbitt) นักวิชาการชื่อดังของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับฟังคำปราศรัยของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ ๒ เมื่อปี ๑๙๗๘ โดยหลังจากนั้นอีก ๓๐ ปี ได้พบว่า คำปราศรัยของนายเติ้ง เสี่ยวผิงในขณะนั้น เป็นเรื่องที่ชาวสหรัฐฯ รวมถึงตัวของจอห์น ไนส์บิทต์ เองก็ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้เลย เพราะยอดการผลิตรายเดือนของบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ในขณะนั้น เท่ากับยอดการผลิตรถยนต์ทั้งปีของจีน แต่ทว่า สิ่งที่นายเติ้งฯ กล่าวนั้นได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นแล้ว กล่าวคือ
        ๒.๑ สถิติจากสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์จีนที่แสดงให้เห็นว่า ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของจีนอยู่ที่ ๒๙.๐๒ ล้านคัน และ ๒๘.๘๘ ล้านคันตามลำดับ โดยยอดจำหน่ายของจีนสูงเป็นประวัติการณ์ และครองอันดับหนึ่งของโลกต่อเนื่องกันเป็นเวลานานถึง ๙ ปี โดยเฉพาะในวงการรถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งเป็นวงการที่อุตสาหกรรมรถยนต์โลกกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ของจีนอยู่อันดับหนึ่งของโลก คิดเป็น ๔๕% ของทั่วโลก
        ๒.๒ หากย้อนกลับไปเมื่อปี ๑๙๘๔ (พ.ศ.๒๕๒๗) ซึ่งนายเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เคยกล่าวขณะพบกับแขกต่างประเทศว่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายใหญ่ของจีนแล้ว การพัฒนาในช่วงหลายปีมานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เมื่อจีนพัฒนาเป็นประเทศมีกินมีใช้ จีนจะพัฒนาให้มีความทันสมัยเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วในช่วง ๓๐ – ๕๐ ปีในศตวรรษหน้า ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอด ๓๐ ปีเศษ ทำให้ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) GDP ของจีนอยู่ที่ ๑๒.๒ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำลังลดช่องว่างจากสหรัฐฯ ลงเรื่อยๆ

๓. ข้อมูลสถิติดังกล่าวเป็นผลมาจากมาตรการสำคัญในการปฏิรูปเชิงลึก อันได้แก่
        ๓.๑ การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดและรูปแบบการพัฒนา โดยหลังการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ ๑๘ เมื่อปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) จีนเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รวมทั้งปัจจัยและสถานการณ์ที่ซับซ้อนและไม่เอื้ออำนวยต่างๆ เช่น การพัฒนาไม่สมดุลและไม่ต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีนายสี จิ้นผิง เป็นแกนนำ ได้เห็นว่า การพัฒนาของเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะปรับความสมดุลใหม่ จึงนำเสนอแนวคิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ โดยประสานงานกัน และเน้นการพัฒนาสีเขียว มีการเปิดกว้างและแบ่งปันกัน รวมทั้งเร่งปรับปรุงกลไกให้ตลาดแสดงบทบาทชี้นำในการจัดสรรทรัพยากรและให้รัฐบาลแสดงบทบาทที่เหมาะสม ปรับปรุงการควบคุมทางมหภาคที่สอดคล้องกับการพัฒนาของเศรษฐกิจจีน
        ๓.๒ การกำหนดให้การปฏิรูปด้านการอุปโภคเป็นโครงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ผลักดันการเติบโตอย่างมั่นคง ส่งเสริมการปฏิรูป ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ อำนวยประโยชน์กับประชาชน และป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ยืนหยัดยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ โดยนำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ เช่น การสร้างสรรค์ตามความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) โดยการประสานการพัฒนาของกรุงปักกิ่งกับนครเทียนจิน (เทียนสิน) และมณฑลเหอเป่ย รวมทั้งการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และกระตุ้นการพัฒนาด้วยการสร้างสรรค์
        ๓.๓ การเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และปรับพลวัตเก่าให้เป็นพลวัตใหม่ พยายามผลักดันการลดความยากจน ยืนหยัดยุทธศาสตร์การทำงานและมีทัศนะประเมินผลงานทางการเมืองที่ถูกต้อง

บทสรุป

ในช่วง ๔๐ ปีที่จีนได้ดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ นับตั้งแต่ยุคสมัยของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ ๒ โดยพบว่า การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนมีแนวโน้มก้าวกระโดดอย่างเกินที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคฯ เป็นแกนนำ ได้แสดงถึงความกล้าหาญในทางการเมือง และมีความรับผิดชอบที่สูงในการแก้ปัญหาตกค้างหลายประการ โดยเดินหน้าในแผนการใหญ่พร้อมกับการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเชิงลึกอย่างจริงจัง จนทำให้จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/special/Chinareform/index.htm

http://thai.cri.cn/20181203/152f8697-93ff-498e-755e-468314c2caaa.html 

http://thai.cri.cn/20181203/152f8697-93ff-498e-755e-468314c2caaa.html

http://www.bjreview.com/Special_Reports/2018/40th_Anniversary_of_Reform_and_Opening_up/