ผลที่ได้รับจากการที่จีนจัดการประชุมอินเตอร์เน็ตโลก (World Internet Conference) ครั้งที่ ๕ ในระหว่างวันที่ ๗ - ๙ พ.ย.๖๑ ณ เมืองอูเจิ้น มณฑลเจ้อเจียง (Wuzhen, Zhejiang province) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในระหว่าง ๓ วันของการจัดประชุมดังกล่าว ได้จัดให้มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถร่วมกัน "สร้างสรรค์โลกดิจิตอลที่เชื่อถือกัน ร่วมมือกันรังสรรค์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมแห่งโลกอินเตอร์เน็ต" ทั้งนี้ เนื่องจากนับจนถึงปลายเดือน มิ.ย.๖๑ อัตราความครอบคลุมของอินเตอร์เน็ตทั่วโลกสูงกว่า ๕๕% มีประชาชนราว ๔,๒๐๐ ล้านคนได้รับข้อมูลต่างๆผ่านอินเตอร์เน็ต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหนทางแสวงหาความรู้ วิถีชีวิต แนวความคิด และค่านิยมต่างๆ ดังนั้น เนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
๒. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้อินเตอร์เน็ต จากกรณีปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาอันอาจขัดต่อบทกฎหมาย รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม และอาจมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล
๒.๑ เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Sir Tim Berners-lee) ชาวอังกฤษผู้คิดค้นและประดิษฐ์อินเตอร์เน็ตภายใต้ชื่อ Mesh ขึ้นเมื่อค.ศ.๑๙๘๙ (พ.ศ.๒๕๓๒) และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เวิลด์ไวด์เว็บ(WWW) ในค.ศ.๑๙๙๐ (พ.ศ.๒๕๓๓) โดยเซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวนี้ดี และเนื่องในโอกาสที่การถือกำเนิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตจะครบรอบ ๓๐ ปีในปี ๒๐๑๙ ที่ใกล้จะมาถึงนี้ เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี กล่าวว่า ค่อนข้างรู้สึกผิดหวังต่อการพัฒนาอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน เพราะมีบริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ซึ่งเป็นจำนวนน้อยนิดเกาะกุมอำนาจเอาไว้ในมือ ข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้โดยมิชอบ อารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังกันได้แพร่กระจายบนอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้ห่างจากเจตนารมณ์แต่แรกเริ่มแรกของเซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี เป็นอย่างยิ่ง ที่มุ่งสร้างอินเตอร์เน็ตให้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้
๒.๒ รศ.เทเลอร์ โอเวน (Taylor Owen) จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย(UBC) กล่าวว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายซึ่งการบริหารจัดการโลกอินเตอร์เน็ตให้มีระเบียบแบบแผนนั้น นอกจากให้ความสำคัญด้านเนื้อหาแล้ว ยังต้องโฟกัสที่โครงสร้างและรูปแบบผลกำไรของอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันด้วย โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปหาผลประโยชน์ รศ.ไทเลอร์ โอเวนชี้ว่า จะคาดหวังให้บริษัทอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ดำเนินการควบคุมตนเองนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับที่ธนาคารใหญ่และสถาบันการเงินต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการควบคุมตนเองได้ จึงทำให้เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) ดังนั้น สังคมโลกจำเป็นต้องจับมือร่วมกันปรับปรุงระบบควบคุมบริหารจัดการอินเตอร์เน็ตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้โลกอินเตอร์เน็ตของเรามีความโปร่งใส ความยุติธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น
๓. ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในงานประชุมฯ ครั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ ๘ พ.ย.๖๑ สำนักข่าวซินหัวเปิดตัวผู้ประกาศข่าวปัญญาประดิษฐ์หรือ AI “คน” แรกของโลก โดยผู้ประกาศข่าว AI "คน" นี้ พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักข่าวซินหัวกับบริษัท search engine ของจีน Sogou .com โดยหยิบยืมเสียงและรูปลักษณ์มาจากนายจางจ้าว ผู้ประกาศข่าวของสำนักข่าวซินหัวซึ่งมีตัวตนอยู่จริง โดยผู้ประกาศข่าว AI ดังกล่าวจะเรียนรู้จากการชมวิดีโอถ่ายทอดสดจำนวนมากด้วยตนเอง และสามารถอ่านข่าวออกอากาศได้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนอย่างผู้ประกาศข่าวมืออาชีพ
บทสรุป
แม้ว่าการจัดประชุมอินเตอร์เน็ตโลกจะทำให้ระบบ search engine ที่ประกอบด้วยซุปเปอร์ประสาท ทำงานคล้ายสมองมนุษย์ สามารถจัดการกับ Big data เกินล้านล้านชิ้น หรือการที่ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เสินเวยของจีน เป็นคอมพิวเตอร์ประมวลผลเร็วที่สุดในโลก หรือการที่แผ่นชิปของสมาร์ทโฟน Huawei รุ่นใหม่ ทำให้โทรศัพท์มือถือมีความปลอดภัยมากถึงระดับเทียบเท่ากับธนาคาร หรือการใช้เทคโนโลยีเลนส์กล้องที่เลียนแบบการทำงานของตามนุษย์ ถ่ายรูปชัดเจนยิ่งขึ้น หรือการมีเครื่องแปลภาษา ที่สามารถแปลระหว่างภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศสและสเปนได้อย่างคล่องแคล่วและทันทีทันใดนั้น จนนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่สามารถทดแทนขีดความสามารถของคนได้ก็ตาม แต่ CEO ของบริษัทใหญ่ๆ ยังคงเห็นว่า คนจะยังสำคัญกว่าหุ่นยนต์ และความคิดสร้างสรรค์ของคนต้องนำหน้าหุ่นยนต์เสมอ
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://chinaplus.cri.cn/special/2018-World-Internet-Conference-Wuzhen-Summit/index.html
http://thai.cri.cn/247/2018/11/09/301s273665.htm
http://thai.cri.cn/247/2017/12/21/102s262106.htm
http://thai.cri.cn/247/2017/12/21/102s262106.htm
http://chinaplus.cri.cn/video/trending-videos/166/20181108/207092.html