bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๔ พ.ค.๖๒ : เหตุผลเบื้องหลังของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในเรื่องอารยธรรม

เหตุผลเบื้องหลังของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในเรื่องอารยธรรม โดยเสนอเป็นข้อริเริ่มให้มีการจัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยอารยธรรมในวันที่ ๑๕ พ.ค.๖๒ ที่กรุงปักกิ่ง และจะมีผู้แทนจาก ๔๗ ประเทศในเอเชีย ตลอดจนจากรัฐบาลในทวีปอื่นๆ รวมทั้งองค์การภาคเอกชนรวมกว่า ๒,๐๐๐ คน เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เหตุผลเบื้องหลังดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มี.ค.๕๗ ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนสำนักงานใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เป็นครั้งแรก พร้อมกล่าวปาฐกถา ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าเคยเยือนหลายพื้นที่ในโลก สิ่งที่ชอบทำมากที่สุดคือ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอารยธรรมที่ต่างกันของ ๕ ทวีป” นอกจากนี้ ในถ้อยคำของปาฐกถาดังกล่าวมีประเด็นที่มีนัยสำคัญ อาทิ
        ๑.๑ บนโลกมีกว่า ๒๐๐ ประเทศและเขตแคว้น กว่า ๒,๕๐๐ ชนเผ่า และหลายศาสนา ประวัติศาสตร์และสภาพประเทศที่ต่างกัน ชนเผ่าและขนบธรรมเนียมที่ต่างกัน ก่อเกิดอารยธรรมที่ต่างกัน ทำให้โลกมีสีสันและความหลากหลายมากขึ้น
        ๑.๒ อารยธรรมมนุษย์นานาพันธุ์มีความเท่าเทียมกันทางคุณค่า ล้วนมีข้อดีและข้อด้อย บนโลกไม่มีอารยธรรมที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีอารยธรรมที่เลวร้าย อารยธรรมไม่มีการแบ่งแยกสูงต่ำ ดีเลว
        ๑.๓ ความแตกต่างทางอารยธรรมไม่ควรเป็นเหตุให้เกิดการปะทะของโลก หากควรเป็นแรงขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ
        ๑.๔ ประวัติศาสตร์บอกเราว่า มีเพียงการแลกเปลี่ยนเป็นแบบอย่างซึ่งกันและกัน อารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งจึงสามารถเต็มเปี่ยมด้วยพลังชีวิต ขอเพียงเชิดชูจิตที่เปิดกว้าง ก็จะไม่มี “การปะทะกันทางอารยธรรม” จะสามารถสร้างความปรองดองทางอารยธรรมได้

๒. ข้อสังเกต
        ๒.๑ ผู้สื่อข่าวของจีนได้สัมภาษณ์ นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ซึ่งได้รับเชิญให้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวรวมทั้งจะขึ้นกล่าวปราศรัยด้วย ความว่า “การประชุมอารยธรรมเอเชียครั้งนี้จะสร้างแบบอย่างเพื่อสันติภาพโลก เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้จะนำเสนอรูปแบบการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองของประเทศเอเชีย เป็นแบบอย่างแก่ทวีปอื่นๆ ว่า ความต่างระหว่างเชื้อชาติ และภาษา แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นความปรารถนาร่วมกันของประเทศในเอเชียเท่านั้น หากยังเป็นพื้นฐานของการสร้างสันติภาพโลกอีกด้วย การอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่สำคัญของอารยธรรมเอเชีย จึงยินดีที่ได้เห็นจีนเชิดชูแนวคิดนี้ และสร้างแบบอย่างให้กับโลก”
        ๒.๒ ผู้สื่อข่าวของจีนได้สัมภาษณ์ นายไพศาล ฉายาวรกุล นายกสมาพันธ์ศิลปินไทย-จีน ที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ความว่า “รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมที่มีความหมายสำคัญครั้งนี้ การก่อตั้งสมาพันธ์ศิลปินไทย-จีนในช่วง ๒๐ ปีมานี้ เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและศิลปะระหว่างไทย-จีน ดังนั้น การที่ได้รับคำเชิญให้ร่วมการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงครั้งนี้ แสดงว่ารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและชื่นชมผลงานของสมาพันธ์ศิลปินไทย-จีนในช่วงหลายปีมานี้

บทสรุป

ข้อคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังในการให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อเรื่องอารยธรรมดังกล่าวนั้น ได้นำไปสู่การจัดประชุมอารยธรรมเอเชียในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนทุกแวดวง ทั้งเยาวชน กลุ่มประชาชน ท้องถิ่น และสื่อมวลชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานคลังสมอง อันจะทำให้ประชาชนชาวเอเชียมีความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคให้มีพลังที่มีชีวิตชีวามากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองของประเทศในเอเชีย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษของอารยธรรมเอเชีย นอกจากนี้ ยังจะเป็นโอกาสอันดีของผู้แทนคนไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนทางด้านอารยธรรมระหว่างไทย-จีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://english.scio.gov.cn/CDAC2019/2019-05/13/content_74779388.htm 

http://thai.cri.cn/20190513/4a63325f-2989-464a-181a-42cc818d5303.html 

http://thai.cri.cn/20190513/ff50b5cc-f6b4-e4d0-a4d1-e828dce0c9e5.html 

http://thai.cri.cn/20190508/eebfebf3-ed87-7ce4-7139-de95899a9aa3.html 

http://thai.cri.cn/20190511/37b16de8-b593-56b7-dec4-cef0fca784a1.html