ข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับความสำคัญของโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI (The Belt and Road Initiative) เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับกระแสของยุคสมัยแห่งความร่วมมือระหว่างภูมิภาค กล่าวคือ เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อน การค้นพบเส้นทางการค้าหลายสายที่เชื่อมโยงอารยธรรมทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งก็คือ "เส้นทางสายไหม" ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านสินค้า เทคโนโลยี บุคลากรและความคิด ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคมก้าวหน้าไป ทั้งนี้เพราะ โครงการริเริ่มฯ ดังกล่าวได้เชื่อมต่อเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปเข้าด้วยกัน โดยในบริเวณนี้มีประชากรประมาณ ๔,๔๐๐ ล้านคน คิดเป็น ๖๓% ของโลก และมีปริมาณรวมของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ ๒๑ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น ๒๙% ของโลก
๒. โครงการความริเริ่มฯ นี้ ประกอบไปด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปฏิรูประบบและกลไก อันจะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ
๒.๑ การปรับปรุงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจการค้าของประเทศต่างๆ ภายในและระหว่างภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ทำให้ปัจจัยสำคัญภายในภูมิภาคสามารถหมุนเวียนอย่างเสรี เป็นระเบียบและได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิผล
๒.๒ การพัฒนาพื้นที่ของประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และพื้นที่ทุรกันดารของประเทศต่างๆ อันจะช่วยลดต้นทุนการค้าการลงทุนรวมทั้งขจัดการกีดกันการค้าระหว่างประเทศต่างๆ และเป็นการเพิ่มพูนพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาของประเทศต่างๆ อีกด้วย โดยที่ประเทศจีนกับประเทศตามเส้นทางดังกล่าว มีพื้นฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันอย่างดี ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่ที่สุด ตลอดจนเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุด และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด
๓. จุดเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าทางบก (เส้นทางสายไหมทางบก หรือ land-based silk road) เริ่มต้นที่เมืองซีอาน เมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นเมืองหลวงของหลายราชวงศ์ในอดีต ณ ตอนกลางของประเทศจีน จากเมืองซีอาน มณฑลส่านซี เส้นทางสายไหมทางบกจะมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านเมืองหลานโจว มณฑลกานซู, เมืองอุรุมชี และคอร์กาส (Khorgas) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ก่อนจะตัดเข้าสู่คาซัคสถาน และการเชื่อมโยงระหว่างกันในกรอบเส้นทางสายไหมทางบกดังกล่าว เมื่อพิจารณาร่วมกับการพัฒนาระบบคมนาคมทางถนนช่วงก่อนหน้าภายใต้โครงการทางด่วน G30 โดยเฉพาะทางด่วนซีอาน – เป่าจี ที่มีความกว้าง ๘ เลน และเส้นทางรถไฟขุยเป่ยแล้ว ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบก ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อน ให้มณฑลส่านซีเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ฝั่งตะวันตกที่โดดเด่นมากขึ้น รวมทั้งหนุนเสริมให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจแคชการ์ (Kashgar) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจคอร์กาส (Khorgas) ในพื้นที่ซินเจียงอุยกูร์ กลายเป็นเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันตกสุดที่มีความสำคัญยิ่งขึ้นสำหรับจีน เลยออกมาจากซินเจียงและคาซัคสถาน ซึ่งเส้นทาง สายไหมทางบกจะเบี่ยงลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ทอดผ่านแถบเอเชียกลางเข้าสู่ตอนเหนือของอิหร่านก่อนจะสวิงขึ้นมายังอิรัก ซีเรีย และตุรกี แล้วก็จะตัดข้ามช่องแคบบอสฟอรัสและมุ่งหน้าขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ยุโรป ผ่านหลายประเทศพอสมควร ทั้งบัลแกเรีย โรมาเนีย เชก และเยอรมนี และเมื่อไปถึงเมืองดุยส์บวร์กส์ เยอรมนีแล้ว เส้นทางนี้ก็จะสวิงขึ้นเหนือสู่รอตเทอร์ดาม เนเธอร์แลนด์ จากนั้นจึงวิ่งลงใต้เข้าสู่เวนิช อิตาลี ที่ซึ่งจะมาบรรจบกับเส้นทางสายไหมทางทะเลในที่สุด
๔. จุดเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าทางทะเล (เส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ sea-based silk road/ maritime silk road) เริ่มต้นจากเมืองฉวนโจว มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกของจีน เมืองนี้เป็นเมืองท่า ที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุครุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมทางทะเลสมัยโบราณ เชื่อมมายังเมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกวางสี และลากผ่านเมืองไหโข่ว มณฑลไหหนาน หรือที่เราเรียกกันในภาษาไทยว่า มณฑลไหหลำ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะอยู่ทางตอนใต้สุดของจีน ก่อนที่เส้นทางสายนี้จะมุ่งใต้เข้าสู่ช่องแคบมะละกา ผ่านกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และไปยังโกลกัตตา อินเดีย โดยผ่านศรีลังกา จากนั้นจึงตัดข้ามมหาสมุทรอินเดียไปยังเมืองไนรูบี เคนย่าแล้วเคลื่อนขึ้นเหนือวนรอบจะงอยแอฟริกาหรือเรียกอีกชื่อว่า คาบสมุทรโซมาลี ตัดผ่านทะเลแดงเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งมีจุดพักอยู่ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ ก่อนที่จะไปสิ้นสุดลงตรงจุดบรรจบกับเส้นทางสายไหมทางบกที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
บทสรุป
สำหรับหลักการและแนวคิดของโครงการความริเริ่มฯ นี้เป็นข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง โดยยึดถือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานและเป็นแกนหลัก ยึดถือการแลกเปลี่ยนบุคคลและวัฒนธรรมเป็นตัวหนุนที่สำคัญ รวมทั้งยืนหยัดไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศในภูมิภาค ไม่แสวงหาอำนาจครอบงำในกิจกรรมภูมิภาค และเขตอิทธิพล ดังนั้น โครงการความริเริ่มฯ นี้จะไม่ทดแทนข้อริเริ่มหรือกลไกความร่วมมือภูมิภาคที่มีอยู่ในปัจจุบัน หากแต่จะขับเคลื่อนให้บรรลุ ซึ่งความเชื่อมต่อกันของยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมข้อได้เปรียบซึ่งกันและกันสำหรับประเทศตามเส้นทางฯ โดยฝ่ายจีนจะปฏิบัติตามหลักการ ๓ ร่วม ได้แก่ ร่วมหารือ ร่วมสร้างสรรค์ และร่วมแบ่งปัน รวมทั้งการส่งเสริมการปรึกษาหารือกับประเทศตามเส้นทางฯ ให้ร่วมกันระดมความคิดเห็น และผลักดันโครงการความร่วมมือ เพื่อให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ตามเส้นทางฯ ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
แหล่งข้อมูล
บทความเรื่อง “แนวคิดทางยุทธศาสตร์ตามโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนกับผลประโยชน์ของไทย” โดย พันเอก ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ในวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ ๖๖ ฉบับที่ ๒ (พ.ค. – ส.ค.๖๐) หน้า ๒๘ – ๔๐.