bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๗ ก.ย.๖๒ ข้อมูลการวิเคราะห์ท่าทีของจีนต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ตอนที่ ๓ – จบ) เกี่ยวกับแนวโน้มของสถานการณ์ด้านความมั่นคง ตามที่ระบุไว้ในเอกสารสมุดปกขาวเรื่อง “China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation” ที่ได้แจกจ่ายและเ

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. แนวโน้มของสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
       ๑.๑ การปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ในทางยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ เกิดจากการที่สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, รวมทั้งออสเตรเลีย ที่กำลังเปลี่ยนการเรียกขานภูมิภาคแถบนี้จากที่เคยใช้ว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ไปเป็น “อินโด-แปซิฟิก” อันเนื่องมาจากการให้ความสำคัญกับมหาสมุทรอินเดียเพิ่มมากขึ้น และเมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองของสหรัฐฯ แล้ว นี่คือการบ่งบอกเป็นนัยถึงการยกระดับอินเดียให้ขึ้นสู่สถานะของการเป็นอภิมหาอำนาจระดับโลกผู้กำลังก้าวผงาดขึ้นมาใหม่ ซึ่งสามารถที่จะ “ปิดล้อมจำกัดวง” จีนได้
       ๑.๒ ในขณะที่แนวคิดการพัฒนาของอินเดียว่าด้วยระเบียงแห่งการเติบโตเอเชีย-แอฟริกา (Asia-Africa Growth Corridor หรือ AAGC) ที่มีญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนสำคัญ แต่ยังเป็นเพียงเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ซึ่งประกาศรับรองโดยอินเดีย และญี่ปุ่น ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และการติดต่อเชื่อมโยงในระบบดิจิทัลคล้ายๆ กับ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ของจีน รวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่มจตุรภาคี (Quadrilateral) ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, รวมทั้งออสเตรเลีย ซึ่งมีการเน้นย้ำเรื่องการสร้าง “เสถียรภาพของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” เพื่อต่อต้านท่าทีที่ของจีนในการดำเนินการต่อปัญหาทะเลจีนใต้

๒. ผลกระทบต่อภูมิภาคและบทบาทท่าทีที่เหมาะสมของประเทศไทย ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก น่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ
        ๒.๑ โดยในเชิงบวกจะกระตุ้นให้มีการเชื่อมโยง (Connectivity) ด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานในภูมิภาคมากขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”หรือ BRI ที่นำเสนอโดยจีน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเชื่อมโยงของอาเซียน ที่มุ่งจะดำรงจุดมุ่งหมายของความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)
        ๒.๒ สำหรับในเชิงลบ อาจจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในภูมิภาค จากการที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และบางประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่มีข้อพิพาทในปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้กับจีน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไนและมาเลเซีย อาจจะเกิดการจับกลุ่มสร้างพันธมิตรขึ้นมาใหม่เพื่อการเจรจาต่อรองกับจีน
       ๒.๓ ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๖๒ จึงควรเร่งผลักดันโครงสร้างความมั่นคงและกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอาเซียนเป็นแกนหลักให้เป็นรูปธรรม เช่น กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) เป็นต้น เพื่อถ่วงดุลและมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจ (Balancing and Engagement) โดยควรเร่งสร้างความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งสร้างบทบาทนำของอาเซียนติอภูมิภาค อาทิ บทบาทในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief : HADR) อันจะทำให้ไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติยิ่งขึ้น

๓. ข้อสังเกต สถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคยังคงมีความผันแปรอยู่ตลอดเวลา โดยจีนได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการบริหารจัดการด้านความมั่นคงไว้ในเอกสารปกขาวฯ ดังกบล่าวว่า จีนมุ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๒๒% ของพื้นดินบนโลก ครอบคลุมประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีประชากรรวมกันคิดเป็นเกือบ ๖๐% ของประชากรโลก จึงเป็นจุดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของโลก แต่การเกิดขึ้นของแนวคิดอินโด-แปซิฟิก จึงย่อมจะทำให้จีนมองว่า สหรัฐฯ กำลังร่วมมือกับญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย เพื่อต้องการปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ในขณะที่จีนกำลังเดินหน้าโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง หรือ BRI” ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา รวมทั้งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยเช่นกัน โดยจีนนำเสนอว่า ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ควรจะมีเป้าหมายร่วมกันทางยุทธศาสตร์ ในการมุ่งส่งเสริมสันติภาพ การแสวงหาเสถียรภาพและการพัฒนา รวมทั้งมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าจะมีข้อกรณีพิพาทที่เป็นจุดประเด็นร้อนในภูมิภาค เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยทั้งทางบกและทางทะเล เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกลไกหลักเพื่อความร่วมมือแบบพหุภาคีของภูมิภาค

บทสรุป
อาจกล่าวได้ว่า สัมพันธภาพระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกดูเหมือนจะมีความซับซ้อน และคาบเกี่ยวพัวพันกับประเด็นทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะกรณีที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ โดยจีนน่าจะเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากประเทศไทยอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรก ไทยเป็นเส้นทางเชื่อมต่อสู่มาเลเซียและสิงคโปร์ อันเกื้อกูลต่อจีนในการเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเพื่อป้องกันการถูกปิดล้อมจากมหาอำนาจนอกภูมิภาคได้ และประการที่สอง ไทยเป็นกัลยาณมิตรทางการเมืองที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ในการช่วยเหลือจีนแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพที่เป็นกลางต่อการสร้างสรรค์ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งจะช่วยยกระดับสถานะของจีนในเวทีประชาคมโลกได้ ซึ่งจะเกื้อกูลต่อการดำเนินนโยบายของจีนในภูมิภาค และสามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของแนวคิดทางยุทธศาสตร์ว่าด้วย “อินโด-แปซิฟิก” ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
The State Council Information Office of the People’s Republic of China. 2017 .China’s Policies on Asia-Pacific Security Cooperation. Beijing : Foreign Languages Press Co.Ltd. รวมทั้ง ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. ๒๕๖๑. เอกสารประกอบการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา ครั้งที่ ๑ เรื่อง “สถานการณ์ความมมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนและอินโด-แปซิฟิก : ผลกระทบ ต่อไทยและอาเซียน” ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมอิงธารรีสอร์ต จังหวัดนครนายก.และ ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พลตรี ดร. ๒๕๖๑. ยุทธศาสตร์จีนบนเวทีโลก เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์