bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๑๘ มิ.ย.๖๒ ทิศทางของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในภาพรวมทางเศรษฐกิจของจีนและอาเซียนได้มีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ
        ๑.๑ GDP ของจีนครองสัดส่วน GDP โลกจาก ๔% ของปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) มาเป็น ๑๕ % ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ในขณะที่ GDP ของอาเซียนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ปี ๒๐๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๔) เป็นต้นมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีคิดเป็น ๕% จนถึงปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) GDP ของทุกประเทศอาเซียนรวมเป็น ๒.๘ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
        ๑.๒ การค้าจีน –อาเซียน โตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในปี ๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) ยอดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนคิดเป็น ๑๙๒,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนถึงปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ได้กลายมาเป็น ๕๑๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเกือบเป็น ๓๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ
        ๑.๓ รายได้เฉลี่ยต่อคน ในเมืองใหญ่ของจีนอาจจะสูงกว่าเมืองอื่น ๆ เช่น ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) GDP เฉลี่ยต่อคนของกรุงปักกิ่งมีประมาณ ๒๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ รายได้ของแรงงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตของเมืองริมฝั่งทะเลของจีนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นักธุรกิจจีนจำนวนหนึ่งจึงหันไปลงทุนสร้างโรงงานในประเทศอาเซียน เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งกำลังแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ อย่างเช่น เสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น
        ๑.๔ จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่นับวันสำคัญมากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยประเทศในอาเซียนได้ส่งออกสินค้าและบริการจำนวนมาก รวมถึงผลิตภัณฑ์การเกษตร พลังงานและการท่องเที่ยว เป็นต้น (ตามสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ไทยรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ ๕๙๐,๐๐๐ ล้านบาท)
        ๑.๕ อาเซียนเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่ โดยมีประชากรรวมประมาณ ๖๕๘ ล้านคน ในขณะที่การบริโภคของครัวเรือนในประเทศกลุ่มอาเซียนได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญของจีน โดยในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ยอดการส่งออกของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียนคิดเป็น ๒๗๙,๐๐๐ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๙% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ จีนยังเป็นแหล่งที่มาสำคัญด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่างปี ๒๐๑๓ – ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๖ – ๒๕๕๙) การลงทุนโดยตรงของจีนต่อประเทศสมาชิกอาเซียน มีจำนวน ๗,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

๒. นับตั้งแต่ปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) เป็นต้นมา ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ได้กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียน โดยนำมาซึ่งเงินทุนมหาศาลมาให้กับโครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนก็เป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญ ภายใต้สภาพที่การค้าทวิภาคีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นต้องเชื่อมต่อทางหลวง ทางรถไฟและท่าเรือระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง ผลักดันการเติบโตทางการค้าให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งจีนได้พยายามหาเงินทุนมาให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอาเซียน รวมถึงไทย ลาว กัมพูชาและอินโดนีเซีย เพื่อการก่อสร้างเครือข่ายทางรถไฟแพนเอเชียที่เริ่มตั้งแต่นครคุนหมิง ในมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของจีน ผ่านประเทศลาว เวียดนาม ไทย กัมพูชาและมาเลเซีย ไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์

๓. ข้อสังเกต ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอาเซียนช่วงปลายปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน คือ หนึ่งในเขตสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยจีนพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน” ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ มีความเชื่อมโยงกันกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนต่อมณฑลต่าง ๆ ของจีน โดยเฉพาะมณฑลตามแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียน โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนของจีนร่วมกันประกาศวิสัยทัศน์และปฏิบัติการในการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมใหม่ตามนโยบายรัฐบาลกลาง ภายใต้กรอบความร่วมมือ ๒+๗ โดยสองประเด็นหลัก ประกอบด้วย หลักการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และความร่วมมือทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานผลประโยชน์ระหว่างกัน ส่วนอีก ๗ ประเด็น ได้แก่
        (๑) การลงนามหนังสือสนธิสัญญาต่าง ๆ เพื่อแสดงความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของอาเซียน
        (๒) เร่งรัดให้การเจรจาต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เป็นต้น
        (๓) การเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคร่วมกัน
        (๔) การเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงินภูมิภาคและความร่วมมือป้องกันความเสี่ยง
        (๕) ความร่วมมือทางทะเลอย่างใกล้ชิด
        (๖) กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง
        (๗) เพิ่มพูนและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน ทั้งด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และความร่วมมือในการป้องกันภัยธรรมชาติ

บทสรุป
การค้าการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าเสรีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ “IHS Markit” ซึ่งเป็นบริษัทผู้เสนอบริการด้านข้อมูลการพาณิชย์รอบโลก และมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน ได้ประกาศรายงานการคาดการณ์ว่า ปี ๒๐๒๘ (พ.ศ.๒๕๗๑) เศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ และกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ ๑ ของโลก โดย GDP เฉลี่ยต่อคนของจีนในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) จะมีถึง ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ และเมื่อถึงปี ๒๐๒๘ (พ.ศ.๒๕๗๑) จะโตขึ้นเป็น ๒๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ โดยจะทำให้ตลาดบริโภคของจีนกลายเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าและการบริการของประเทศในอาเซียน แต่ในขณะเดียวกัน อาเซียนก็จะกลายเป็นหนึ่งในตลาดบริโภคที่สำคัญที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นจุดศูนย์กลาง (Hub) ในการเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.thejakartapost.com/academia/2019/01/31/china-and-asean-doing-well-on-economic-trade-cooperation.html 


http://thai.cri.cn/20190527/e734598c-8578-f547-5f41-b33f4414c082.htm 

http://web.senate.go.th/w3c/senate/pictures/content/file_1438583168.pdf

http://english.gov.cn/premier/video/2018/11/15/content_281476391148848.htm