ท่าทีความเคลื่อนไหวของจีนกับสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคง มีประเด็นที่สำคัญดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๔ มิ.ย.๖๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ได้พบกับนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มาเยือนกรุงปักกิ่ง โดย
๑.๑ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นว่า จีนและสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ร่วมกันมากมายในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลก ตลอดจนการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของโลก ภาระหน้าที่ที่สำคัญระหว่างความร่วมมือจีน-สหรัฐฯ จะเป็นเรื่องดีสำหรับสองประเทศและโลก โดยหวังว่าเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายจะปฏิบัติตามฉันทามติที่ทำขึ้นระหว่างการพบปะของเขากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กรุงปักกิ่ง เพิ่มการติดต่อและการเชื่อถือกันมากขึ้น ควบคุมข้อพิพาท และขยายความร่วมมือ ผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง สร้างความผาสุกแก่ประชาชนสองประเทศและประชาชนทุกประเทศทั่วโลกมากขึ้น
๑.๒ นายไมค์ ปอมเปโอ ได้กล่าวว่า นำความปรารถนาอันดีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มายัง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณที่ให้ความเห็นและความช่วยเหลือต่อปัญหาคาบสมุทรเกาหลี
๒. สถานการณ์ด้านความมั่นคง ที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
๒.๑ เมื่อวันที่ ๖ มิ.ย.๖๑ ที่ผ่านมา นางหวา ชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนออกคำแถลงเตือนสหรัฐฯ ว่า ควรหยุดการกล่าวที่เชิงที่ไม่สร้างสรรค์และหยุดยั่วยุในเขตทะเลจีนใต้ จากกรณีที่สหรัฐฯ ประโคมปัญหา "การทำให้เป็นเขตทหาร" ในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่องและจัดส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 มายังน่านฟ้าในทะเลจีนใต้ โดยจีนจะไม่หวั่นเกรงต่อการข่มขู่ด้วยเรือรบหรือเครื่องบินรบใด ๆ และจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อพิทักษ์อธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติ รักษาสันติภาพและเสถียรภาพของเขตทะเลจีนใต้
๒.๒ เมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย.๖๑ "สมาคมสหรัฐฯ ในไต้หวัน" จัดพิธีเปิดสำนักงานที่เมืองไทเป โดยมี มาเรีย รอยซ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมพิธีด้วย ซึ่งนายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนอีกคนหนึ่ง ได้กล่าวในงานแถลงข่าวว่า จีนติดตามรายงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและประท้วงกับสหรัฐฯ อย่างรุนแรงแล้ว เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ส่งเจ้าหน้าที่รัฐไปร่วมกิจการในไต้หวัน ไม่ว่าด้วยข้ออ้างใดก็ตาม ล้วนเป็นการกระทำฝ่าฝืนหลักการจีนเดียวและข้อกำหนดใน "แถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับสหรัฐฯ" ๓ ฉบับ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จีนเร่งรัดสหรัฐฯ ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับจีนเกี่ยวกับปัญหาไต้หวัน แก้ไขการกระทำที่ผิดพลาด อย่าสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์สองประเทศและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน
๓. ข้อสังเกต
๓.๑ ประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ เป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเลเส้นหลักของโลก ทั้งในการลําเลียงสินค้าและพลังงานทางทะเล รวมถึงแหล่งพลังงานที่มีอยู่ใต้ทะเลในอาณาบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งมีความสำคัญต่อผลประโยชน์โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจของจีน อีกทั้งยังมีความสําคัญต่อการเคลื่อนกําลังทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ในขณะที่จีนได้สร้างเกาะเทียมขึ้นหลายแห่งในบริเวณทะเลจีนใต้ ทำให้สหรัฐฯ เกรงว่าจะขัดขวางต่อเสรีภาพในการเดินเรือ และกระทบต่อฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์จำนวน ๕ แห่งได้แก่ Antonio Bautista Air Base (ตั้งอยู่บนเกาะปาลาวัน) Basa Air Base (อยู่ห่างจากกรุงมะนิลา ๔๐ ไมล์) Fort Magsaysay (อยู่ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน) Lumbia Air Base (อยู่ทางตอนใต้ของเกาะมินดาเนา) และ Mactan-Benito Ebuen Air Base (อยู่บนเกาะเซบู)
๓.๒ ประเด็นเรื่องเสถียรภาพช่องแคบไต้หวัน ซึ่งผูกโยงกับอธิปไตยของดินแดนที่จีนย้ำเสมอว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รวมทั้งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับกรณีไต้หวันรวม ๔ ประการ ได้แก่
(๑) ยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศบนหลักการ “จีนเดียว” โดยที่ยังคงให้ความสำคัญกับสถานการณ์ของช่องแคบไต้หวัน โดยจะเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ในทุกด้านระหว่างกัน
(๒) สนับสนุนการเข้าใจพัฒนาการของประวัติศาสตร์ควบคู่กับการพัฒนาความสัมพันธ์ในอนาคต
(๓) ส่งเสริมการเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจ การติดต่อกัน การแสวงหาความเหมือนบนความแตกต่าง
(๔) เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์แบบมั่นคงและรอบด้าน ขณะที่สหรัฐฯ ในยุคสมัยของประธานาธิบดีนิกสัน ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ-จีน (U.S.–China joint communiqué) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๗๒ (พ.ศ.๒๕๑๕) โดยเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่าสหรัฐฯ ยอมรับว่า “จีนทั้งสองฝั่งของช่องแคบไต้หวันเป็นจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน”
บทสรุป
แม้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีท่าทีตอบรับเป็นอย่างดีต่อการพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย.๖๑ ที่สิงคโปร์ โดยเห็นว่ามีความคืบหน้าที่ดี และนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการแก้ปัญหานิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลีด้วยวิถีทางการเมือง ซึ่งตรงกับจุดยืนของจีนต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอดมาก็ตาม แต่จากท่าทีความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ต่อกรณีปัญหาทะเลจีนใต้และเสถียรภาพของช่องแคบใต้หวัน ทำให้จีนแสดงความไม่พอใจและจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะปีหน้าจะเป็นปีครบรอบ ๔๐ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://en.people.cn/n3/2018/0615/c90000-9471649.html
http://thai.cri.cn/247/2018/06/15/233s268044.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/06/07/123s267795.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/06/13/63s267993.htm