มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย.๖๒ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้จัดแสดงผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้เผยแพร่ผลงานด้านการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ ตลอดจนการแปรรูปและยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อแสวงหาโอกาสการส่งเสริมการผสมผสานทางวิทยาศาสตร์และการเงิน ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์กรด้านการลงทุน เพื่อให้บริการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ในปีที่แล้ว สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนได้ส่งเสริมการใช้ผลงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้ธุรกิจเพิ่มยอดขาย ๔๕๙,๕๐๐ ล้านหยวน โดยเพิ่มกำไรและภาษีกว่า ๕๗,๒๐๐ ล้านหยวน
๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๙ เม.ย.๖๒ ดร.ไป๋ ชุนหลี่ ประธานสภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน ได้กล่าวที่กรุงปักกิ่งว่า ช่วง ๖ ปีมานี้ สภาวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีนสนับสนุนโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีการจัดสรรงบประมาณกว่า ๑,๘๐๐ ล้านหยวน เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับบุคลากรในประเทศรายทางกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน นับเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับความท้าทายร่วมกัน การเชื่อมหัวใจประชาชนเข้าด้วยกัน และการพัฒนาที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะได้จัดตั้งสมาพันธ์องค์การวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ ANSO (Alliance of International Science Organizations) นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประเทศรายทาง ตลอดจนตั้งศูนย์การเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ เพื่อนำผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในประเทศรายทางให้มากขึ้น
๓. ข้อสังเกต เมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งเป็นปีครบรอบ ๔๐ ปีแห่งการลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยทั้งสองประเทศได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั้งหมด ๒๑ ครั้ง รวมทั้งเดินหน้าโครงการความร่วมมือกว่า ๘๐๐ โครงการ ซึ่งครอบคลุมถึงเกษตรกรรม พลังงาน การแพทย์ การผลิตยา และชีววิทยา เป็นต้น โดยเฉพาะในปีหลังๆ นี้ ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินความร่วมมือด้าน Big Data เมืองอัจฉริยะ อี-คอมเมิร์ส และเทคโนโลยีทางอวกาศ ซึ่งกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระหว่างไทย-จีน จนนำมาซึ่งการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน(กรุงเทพ) เมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย.๖๑ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของกลุ่มนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นฐานสำคัญของการร่วมมือวิทยาศาสตร์นานาชาติระหว่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกับประเทศโซนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
บทสรุป
อาจกล่าวได้ว่า ความร่วมมือในด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ของประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งถือเป็นเวทีและกลไกความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายของประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมการติดต่อระหว่างประชาชน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและบุคคลากร ทำให้การจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมระดับโลกของสถาบันวิทยาศาสตร์จีนมีความคืบหน้าไปอีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน(กรุงเทพ) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
https://www.szse.cn/English/about/news/szse/t20190627_568202.html
http://thai.cri.cn/20190627/a090fd2d-3dbc-f1f9-7344-af98ef561958.html
http://thai.cri.cn/20190420/5bbc8b08-8df7-c999-718a-7ddce42b578f.html
http://thai.cri.cn/20190119/73928ea5-8889-ec3d-769f-118059a4d617.html
http://thai.cri.cn/20181117/c398983b-209f-4453-d351-8f2184116a66.html
http://thai.cri.cn/20181011/3f85df7f-1a10-8eda-ae20-a40a1eefa295.html