bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๐ ส.ค.๖๒ จุดยืนของจีนต่อปัญหาแคชเมียร์ (Kashmir)

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๖ ส.ค.๖๒ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จัดการอภิปรายอย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับ “ปัญหาอินเดีย-ปากีสถาน” เพื่อรับฟังรายงานของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์ในแคชเมียร์ (Kashmir) รวมไปถึงผลการปฏิบัติงานของคณะผู้สังเกตการณ์ด้านการทหารอินเดีย-ปากีสถานของสหประชาชาติ โดยนายจาง จุน ผู้แทนของจีนประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวว่า ปัญหาแคชเมียร์เป็นปัญหาที่ตกค้างจากประวัติศาสตร์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน มติที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติสรุปว่า ฐานะของแคชเมียร์ยังไม่ได้รับการกำหนดอย่างชัดเจน บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่พิพาทที่สากลให้การยอมรับ ทั้งนี้ ปัญหาแคชเมียร์สมควรได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธีอย่างรอบคอบตามกฎบัตรสหประชาชาติ ด้วยมติสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องและข้อตกลงแบบทวิภาคี

๒. เมื่อวันที่ ๕ ส.ค.๖๒ รัฐบาลกลางของอินเดียประกาศยกเลิกมาตรา ๓๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ทำให้สถานะการเป็นพื้นที่พิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ถูกยกเลิก และกลายเป็นดินแดนสหภาพ (Union Territory) ซึ่งขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางพร้อมๆ กับลาดักห์ (Ladakh) ทำให้เกิดข้อพิพาทขึ้นอีกครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่อังกฤษยกเอกราชคืนให้ดินแดนอนุทวีปอินเดีย โดยอังกฤษได้แบ่งดินแดนนั้นเป็น ๒ ประเทศคือ อินเดียและปากีสถาน ทำให้รัฐมหาราชาหรือรัฐท้องถิ่นแต่ละรัฐจะต้องตัดสินใจว่าต้องการอยู่ร่วมกับประเทศใด ซึ่งปัญหาคือผู้ปกครองรัฐจัมมูและแคชเมียร์ไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะโดยศาสนาแล้วน่าจะต้องอยู่กับปากีสถาน แต่ในด้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลับสอดคล้องกับอินเดียและอยากเป็นรัฐอิสระ จนกระทั่งปี ๑๙๕๑ (พ.ศ.๒๔๙๔) ได้มีการลงประชามติให้รัฐจัมมูและแคชเมียร์ไปอยู่กับอินเดีย

๓. ข้อสังเกตต่อผลกระทบล่าสุด เกิดขึ้นมาจากการที่รัฐบาลอินเดียอ้างคำสั่งประธานาธิบดียกเลิกมาตรา ๓๗๐ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้รัฐจัมมูและแคชเมียร์สามารถตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ในรัฐของตัวเองได้ (ยกเว้นกิจการด้านกลาโหม การต่างประเทศ, และการคมนาคม) อันเป็นการยกเลิกสถานะเขตปกครองตนเองของแคชเมียร์ที่มีมานานกว่า ๗๐ ปี และยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอินเดียยังล้มกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวจัมมูและแคชเมียร์ซื้อหาอสังหาริมทรัพย์ในรัฐแห่งนี้ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้พลเมืองต่างถิ่นเข้ามาลงทุนและตั้งหลักปักฐานในที่แห่งนี้ได้ไม่ต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในอินเดีย นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังยกเหตุผลด้านความมั่นคงมาอ้างเพื่อแบ่งรัฐนี้ออกเป็น ๒ ส่วน สำหรับส่วนแรกคือดินแดนจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งอยู่ทางซีกตะวันตกของรัฐจัมมูและแคชเมียร์เดิม และส่วนที่สองคือเขตลาดัก (Ladakh) ที่อยู่ทางตะวันออก โดยทั้ง ๒ ส่วนจะกลายเป็นดินแดนสหภาพที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของอินเดีย

บทสรุป
การที่แคชเมียร์ถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งอินเดียและปากีสถานนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ๑๙๔๗ (พ.ศ.๒๔๙๐) โดยตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีเศษที่ผ่านมา แคชเมียร์ในฝั่งอินเดียก็เผชิญเหตุความไม่สงบจากกลุ่มติดอาวุธซึ่งต้องการแยกตัวเป็นอิสระ หรือไม่ก็ต้องการไปรวมเข้ากับปากีสถาน ซึ่งเหตุรุนแรงเหล่านี้ได้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๗๐,๐๐๐ คน โดยนายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ได้เน้นว่า จุดยืนร่วมของบรรดาประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคือ การเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความอดกลั้น และต้องไม่มีการปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียวที่จะเป็นการเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค โดยจีนสนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยสันติวิธีอย่างรอบคอบตามกฎบัตรสหประชาชาติ

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
http://www.china-un.org/eng/hyyfy/t1689525.htm    

http://thai.cri.cn/20190817/773b78f0-4a2a-11f9-6ed1-57035bd6537c.html 
https://themomentum.co/kashmir-jammu-dispute-august-2019/ 
https://www.reuters.com/article/us-india-kashmir-un-china/china-says-un-council-members-think-india-pakistan-should-refrain-from-unilateral-action-in-kashmir-idUSKCN1V61K6 
https://mgronline.com/around/detail/9620000076144 
https://news.un.org/en/story/2019/08/1044401