bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๑ พ.ค.๖๒ : ผลการประชุมว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

ผลการประชุมว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กับการศึกษาระหว่างประเทศ โดยจีนกับยูเนสโก (UNESCO) ร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “วางแผนการศึกษายุคปัญญาประดิษฐ์ : การนำร่องกับการก้าวข้าม” ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๘ พ.ค.๖๒ ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อหารือถึงหนทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคต โดยเฉพาะมาตรฐานความสามารถของบุคคลกรด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสร้างระบบการศึกษา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. มีผู้แทนประมาณ ๕๐๐ คน จากกว่า ๑๐๐ ประเทศ และ ๑๐ องค์กรระหว่างประเทศทั่วโลก ที่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ที่ได้พิจารณาหารือหนทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคต โดยที่ประชุมได้กล่าวถึงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มีส่วนช่วยต่อการบรรลุเป้าหมายการศึกษาในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ซึ่งได้บรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์ร่วมกันเป็น “ปฏิญญาปักกิ่ง”

๒. ในเอกสาร“ปฏิญญาปักกิ่ง” ฉบับนี้ ได้นำเสนอให้ประเทศต่างๆ กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดัน AI กับการศึกษา มุ่งเน้นการเรียนการสอนให้กลมกลืนกันเป็นระบบ การสร้างระบบการศึกษาที่มีความเปิดเผยและยืดหยุ่นด้วย AI การส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิตอย่างเที่ยงธรรมและมีคุณภาพ นอกจากนี้ เอกสารยังเสนอให้สนับสนุนศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI เพื่อสร้างประชาคมโลกที่มีค่านิยมเดียวกันในด้าน AI และการศึกษา

๓. ข้อสังเกต การประชุมฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะมีการเสนอข้อริเริ่มต่อประชาคมโลกในการส่งเสริมและสร้างสรรค์การศึกษาในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนร่วมเดินหน้าสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติแล้ว ยังได้หารือถึงการหลอมรวมระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ากับการศึกษา ซึ่งถือเป็นโอกาสและความท้ายทายร่วมกันที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยจีนได้แสดงท่าทีว่า จะเพิ่มความร่วมมือกับทุกประเทศ เพื่อทำให้ระบบ AI กับการศึกษาหลอมรวมกันอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งร่วมกันอบรมบุคลากรชั้นสูงด้าน AI และแบ่งปันผลการพัฒนา AI และการศึกษากับทุกประเทศ

บทสรุป

ผลสำเร็จจากการประชุมในครั้งนี้ ที่ได้มีการนำเสนอให้ประเทศต่างๆ กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างประชาคมโลกที่มีค่านิยมเดียวกันในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการศึกษา โดยการผลักดัน AI กับการศึกษาให้หลอมรวมกันอย่างลึกซึ้ง และได้บรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์ร่วมกันเป็น “ปฏิญญาปักกิ่ง” ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่ว่า AI เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและทางธุรกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะอบรมบุคลากรระดับสูงด้าน AI ที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมและความร่วมมือ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่อันสำคัญของการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาในอนาคต

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2019-05/18/c_138069787.htm 

http://thai.cri.cn/20190517/beb9311c-9a72-23b0-4e7d-ada53f2e523c.html 

http://thai.cri.cn/20190519/a089c46a-3005-1795-2ff4-6c4e2aa1c6b3.html 

http://thai.cri.cn/20190516/b49c85dd-fe1e-a04f-1adb-c28585e9f60b.html

http://thai.cri.cn/20190515/2ba1b1d5-e669-4b61-7fda-8bee1af0c9ff.html 

https://en.unesco.org/news/international-conference-artificial-intelligence-and-education-opens-beijing 

https://en.unesco.org/themes/ict-education/ai-education-conference-2019