มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. โครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ ๘ (The Eighth Thai – Chinese Strategic Research Seminar) ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีนยุคใหม่ : โอกาสและวิสัยทัศน์ใหม่” (Chinese – Thai Strategic Cooperation for a New Era : New Opportunity and New Vision) จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies (CSSAS)และ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้/ประสบการณ์ในการวิจัยเกี่ยวกับไทย-จีน และนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยไปใช้ประกอบการพัฒนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-จีน ระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและจีน
๒. การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ ไทย - จีน ครั้งที่ ๗ เมื่อปีที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมยุคใหม่ : สู่การพัฒนาร่วมกัน”หรือ“The Belt and Road Initiative (BRI) and Thailand 4.0: Towards Common Development” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ – ๑๓ ส.ค.๖๑ ณ ห้องประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะมุ่งเน้นการผลักดันการสร้างและพัฒนากลไกการแลกเปลี่ยนของรัฐบาลทั้งสองประเทศ ด้วยการเสนอแผนงานที่มีคุณภาพเพื่อความร่วมมือเชิงลึกใน ๖ ด้าน ได้แก่
(๑) ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในการลงทุน การค้า การเงินและอีคอมเมิร์ซ
(๒) ด้านความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม ในการสร้างความเป็นเมืองและลดปัญหาความยากจน
(๓) ด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาทุนมนุษย์และนวัตกรรม
(๔) ด้านความร่วมมือในนโยบายการทูตและการป้องกันประเทศ
(๕) ด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และการขนส่ง
(๖) ด้านกิจการชาวจีนโพ้นทะเลในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน อันจะทำให้เกิดการประสานความเข้าใจที่สอดคล้องกัน และนำไปสู่การเสริมสร้าง ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างไทย – จีน ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น
บทสรุป
โครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ดังกล่าว จึงมีสอดคล้องกับนโยบายของทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศสมาชิกของกลุ่มอาเซียน ทำให้จีนสนใจและให้ความสำคัญกับอาเซียน ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสำคัญต่อจีนในการเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดกับจีนและเป็นดินแดนเชื่อมต่อติดกับมหาสมุทรทั้งแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย อันมีความสำคัญต่อจีนในการลงสู่ด้านใต้เพื่อออกสู่มหาสมุทรดังกล่าวอีกช่องทางหนึ่ง โดยจะส่งผลให้ดินแดนในภาคตะวันตกของจีนมีเส้นทางที่เชื่อมต่อออกสู่มหาสมุทรได้และเป็นช่องทางการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของจีนที่สำคัญ ตามนโยบายความริเริ่ม “ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ๕ ด้าน อันได้แก่ (๑) การเมือง (๒) เส้นทาง (๓) การค้า (๔) เงินตรา และ (๕) ประชาชน
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. www.vijaichina.com