bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๖ มิ.ย.๖๑ : นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติตาม "ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้"

กรณีที่นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติตาม "ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" ครั้งที่ ๑๕ จะจัดขึ้นที่เมืองฉางซา มณฑลหูหนานในวันที่ ๒๗ มิ.ย.๖๑ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การประชุมฯ ครั้งนี้จะมีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับการปฏิบัติตามแถลงการณ์ดังกล่าว ระหว่างจีนกับอาเซียน รวมทั้งเร่งความร่วมมือทางทะเล และเจรจาประเด็นหลักการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ นายข่ง เสวียนโย่ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศจีนและของประเทศในกลุ่มอาเซียนจะร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

๒. ลำดับพัฒนาการในการแก้ไขปัญหา ทะเลจีนใต้ร่วมกันระหว่างจีนกับอาเซียน
        ๒.๑ หลังจากปี ๑๙๙๒ (พ.ศ.๒๕๓๕) ซึ่งจีนเข้าเป็นหุ้นส่วนคู่เจรจาของอาเซียน ทำให้จีนกับอาเซียนได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขข้อพิพาทดินแดน และการปักปันเขตแดนในน่านน้ำทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยทั้งจีนและอาเซียนต่างเห็นพ้องกันว่า ต้องยืนหยัดแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีโดยผ่านการเจรจา และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่จีนเสนอ คือ สงวนข้อพิพาท นั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ขณะเดียวกัน ต้องสนับสนุนการบุกเบิกพัฒนาร่วมกัน ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นฐานในการพูดคุยเจรจาระหว่างจีน-อาเซียน เพื่อแสวงหาจุดร่วมในการแก้ไขปัญหา
        ๒.๒ ปี ๑๙๙๘ (พ.ศ.๒๕๔๑) ที่ประชุมผู้นำอาเซียนผ่านแผนปฏิบัติการกรุงฮานอยที่มีวัตถุประสงค์จะขับเคลื่อนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ในแผนเสนอให้สนับสนุนการกำหนดระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้(Code of Conduct – COC) สำหรับคู่กรณีที่มีข้อพิพาทกัน โดยจีนเห็นชอบในหลักการที่จะเจรจากับอาเซียนเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เพื่อเพิ่มความไว้วางใจ ลดความกังขา และรักษามิตรสัมพันธ์ฉันประเทศเพื่อนบ้าน
        ๒.๓ เมื่อวันที่ ๑๕ มี.ค. ปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) จีนจัดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับอาเซียนเกี่ยวกับการกำหนดระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อขัดแย้งค่อนข้างมากด้านความผูกพันทางกฎหมายของระเบียบปฏบัตินี้ ทำให้การเจรจาเรื่องนี้อีกหลายครั้งล้วนไม่มีผลคืบหน้าที่ชัดเจน
        ๒.๔ เมื่อเดือน ก.ค. ปี ๒๐๐๒ (พ.ศ.๒๕๔๕) ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ ๓๒๕ ที่กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเสนอให้กำหนดปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea –DOC) ซึ่งจะมีการประนีประนอมกัน และไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย แทนระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ เพื่อจะได้มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ ข้อเสนอนี้ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม จนในที่สุดได้บรรลุปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ วันที่ ๔ พ.ย.๔๕ นายหวาง อี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในเวลานั้นและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมลงนามในปฏิญญาดังกล่าวระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ ๘ ที่กรุงพนมเปญ
        ๒.๕ ปี ๒๐๐๓ (พ.ศ.๒๕๔๖) ได้จัดให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน (ASEAN-China Senior Officials’ Meeting –SOM) เป็นประจำเพื่อกำกับดูแลการนำ DOC ไปใช้ปฏิบัติและก่อตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดการกับกรณีเฉพาะต่างๆ โดยในเดือน ธ.ค.๒๐๐๔ (พ.ศ.๒๕๔๗) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีการจัดประชุม SOM ว่าด้วยปฏิญญา DOC เป็นครั้งแรก และประเทศที่เข้าร่วมประชุมตัดสินใจก่อตั้งกลไกคณะทำงานร่วมเพื่อหารือถึงการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติ นอกจากนี้ยังนำเสนอเอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะทำงานร่วมด้วย คณะทำงานร่วมมีภาระหน้าที่ในด้านการศึกษาและวางมาตรการเชิงนโยบายที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการนำ DOC ไปใช้ปฏิบัติ
        ๒.๖ ปี ๒๐๐๕ (พ.ศ.๒๕๔๘) มีการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งแรกจัดขึ้นในกรุงมะนิลาระหว่างวันที่ ๔ - ๕ ส.ค.๔๘ โดยอาเซียนนำเสนอร่างเอกสารแนวทางเจ็ดข้อในการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติ และในการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งที่สองที่เมืองซานย่าในปี ๒๐๐๖ (พ.ศ.๒๕๔๙) มีความคืบหน้าเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ทุกฝ่ายตกลงที่จะมุ่งเน้นหัวข้อความร่วมมือหกด้านด้วยกัน หลังจากนั้น อาเซียนกับจีนก็ตัดสินใจจัดทำแนวทางการนำ DOC มาใช้ปฏิบัติได้สำเร็จในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียนเมื่อเดือน ก.ค. ปี ๒๐๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๔) และในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในกรุงพนมเปญเมื่อเดือน ก.ค. ปี ๒๐๑๒ (พ.ศ.๒๕๕๕) อาเซียนได้นำเสนอเอกสารที่บรรจุองค์ประกอบสำคัญของ COC
        ๒.๗ เมื่อวันที่ ๑๕ ก.ย.๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) มีการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสจีน-อาเซียนว่าด้วย COC ครั้งแรกขึ้นในเมืองซูโจว โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะเริ่มกระบวนการ COC บนหลักการของการคำนึงถึงฉันทามติและใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป
        ๒.๘ ล่าสุดผู้นำจีน-อาเซียน ได้เปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อบรรลุปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea ชื่อย่อ DOC) ครั้งที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ค.๖๐ โดยที่ประชุมฯ ได้ทบทวนและรับรองร่างกรอบงาน COC ซึ่งนับเป็นการบรรลุความคืบหน้าก้าวใหญ่ในขั้นตอนการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

บทสรุป

การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงว่าด้วยการปฏิบัติตาม "ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" ครั้งที่ ๑๕ เมืองฉางซา มณฑลหูหนานในวันที่ ๒๗ มิ.ย.๖๑ จึงน่าสนใจว่า กระบวนการกำหนดระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ COC จะคืบหน้าไปอย่างไร และจะสามารถนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพระยะยาวในทะเลจีนใต้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศคู่พิพาทในพื้นที่ที่ไม่อ่อนไหว ส่วนกรณีปัญหาแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ หรือ DOC ที่มีอยู่หลายประการจำเป็นต้องมีการแก้ไขให้ลุล่วง เพื่อให้ COC มีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยซึ่งจะรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีหน้าต้องมีการเตรียมการ เพื่อรับมือกับปัญหาความท้าทายดังกล่าว

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.xinhuanet.com/english/2018-06/22/c_137273903.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/06/23/64s268286.htm

http://thai.cri.cn/247/2016/08/09/42s244853.htm

http://thai.cri.cn/247/2016/08/09/42s244855.htm

http://www.china.org.cn/world/2012-07/13/content_25897836.htm

http://www.vijaichina.com/articles/635