bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๒๘ ก.ค.๖๓ เบื้องหลังการเตรียมการในภารกิจการสำรวจดาวอังคาร (火星) ของจีน

จีนศึกษา (วันอังคารที่ ๒๘ ก.ค.๖๓) ขอนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับเบื้องหลังการเตรียมการในภารกิจการสำรวจดาวอังคาร (火星) ของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ความสำเร็จของจีนในด้านอวกาศ เช่น โครงการสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ โครงการดาวเทียมนำร่องเป่ยโต่ว  และวิศวกรรมระบบการบินอวกาศของจีน ฯลฯ ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการปูพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการสำรวจดาวอังคาร (火星探测) ในขณะที่จีนได้ดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการบินอวกาศชั้นนอกตามหลักการความเสมอภาค การอำนวยประโยชน์แก่กัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์อย่างสันติ และการพัฒนาอย่างครอบคลุม จึงทำให้ภายในยานสำรวจดาวอังคาร “เทียนเวิ่น หมายเลข ๑” (天问一号 / Tienwen-1) ของจีน มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรป ศูนย์วิจัยการบินอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส และสำนักงานส่งเสริมการวิจัยแห่งออสเตรีย เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจสนามแม่เหล็กและดินบนดาวอังคาร นอกจากนี้ ในด้านการติดต่อสื่อสารสำหรับอวกาศชั้นนอกนั้น จีนยังได้รับความช่วยเหลือจากอาร์เจนตินาอีกด้วย และก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน พ.ย.๖๒ จีนได้จำลองการลงจอดโดยหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางอย่างช้าๆ บนดาวอังคาร พร้อมกับทดลองอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่อำเภอหวยหลาย มณฑลเหอเป่ย ซึ่งได้ทำให้จีนมีความมั่นใจต่อความถูกต้องในการออกแบบอย่างครบถ้วน
 
๒. ในที่สุด เมื่อวันที่ ๒๓ ก.ค.๖๓ เวลา ๑๒.๔๑ น. จีนก็ประสบความสำเร็จในการใช้จรวดขนส่งลองมาร์ช หมายเลข ๕ (长征五号) นำส่งยานสำรวจดาวอังคาร “เทียนเวิ่น หมายเลข ๑” (天问一号) จากสถานีปล่อยยานอวกาศเหวินชาง (文昌航天发射场) บนเกาะไห่หนาน (海南岛) ซึ่งอยู่ทางใต้ของจีน เข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จหลังจากใช้เวลาบิน ๒,๑๖๗ วินาที ถือเป็นก้าวแรกของจีนในการเดินทางสำรวจดาวอังคาร ทั้งนี้ ยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่นหมายเลข ๑ จะใช้เวลา ๗ เดือนจึงจะเข้าใกล้กับดาวอังคาร โดยคาดว่าจะเดินทางถึงดาวอังคารในเดือน ก.พ.๖๔ หลังจากนั้นจะเลือกเวลาที่เหมาะสมในการลงจอดบนพื้นผิวอีกครั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่สำรวจดาวอังคารทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
 
๓. ข้อสังเกตต่อการสำรวจดาวอังคาร (火星探测) ของจีน
     ๓.๑ เนื่องจากโลกกับดาวอังคารมีระยะเวลาในการหมุนไม่เท่ากัน กล่าวคือ  ๑ ปีดาวอังคารคือ ๖๘๗ วัน  โดยใน ๒๖ เดือนจะมีครั้งเดียวที่ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุดเพียง ๖๒.๐๗ ล้านกิโลเมตร และเดือนตุลาคมปีนี้ก็เป็นช่วงที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด  ดังนั้น ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงที่เหมาะที่สุดกับการส่งยานสำรวจดาวอังคารเพื่อลดเวลาการเดินทาง รวมทั้งประหยัดเชื้อเพลิงและประหยัดต้นทุน    
     ๓.๒ หากจีนประสบความสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้จีนบรรลุเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ ๓ ประการในภารกิจครั้งเดียว และจะเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย กล่าวคือ (๑) เป็นการสำรวจพื้นที่ทั้งหมดบนดาวอังคารอย่างสมบูรณ์จากการโคจรรอบดาวอังคาร (๒) เป็นการลงจอดบนดาวอังคาร และ (๓) เป็นการนำยานสำรวจลงไปสำรวจดาวอังคารเพื่อเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
 
บทสรุป

 
นับตั้งแต่ที่จีนประสบความสำเร็จในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่อวกาศครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ และล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว จีนก็ได้กลายเป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดแบบ soft landing บนดวงจันทร์ด้านมืด ดังนั้น ในภารกิจการสำรวจดาวอังคารของจีนครั้งนี้ จึงใช้ยานสำรวจชื่อ “เทียนเวิ่น หมายเลข ๑" (天问一号) ซึ่งแปลว่า “คำถามถึงสรวงสวรรค์” อันเป็นชื่อบทกวีจีนโบราณที่ยิ่งใหญ่ของ “ชวีย เหวียน" (屈原  / Qu Yuan) ผู้มีชีวิตในช่วง ๓๔๐ – ๒๗๘ ปีก่อนคริสตกาล และเป็นหนึ่งในกวีคนสำคัญของชาวจีนโบราณ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อความมุ่งมั่นของจีนในการยกระดับภารกิจด้านอวกาศ ทั้งนี้เนื่องจาก การสำรวจอวกาศไม่มีที่สิ้นสุด (太空探索无止境) และอย่าหยุดความฝันที่ยิ่งใหญ่ (伟大梦想不止步) โดยจีนกำลังจะก้าวไปสู่การมีสถานีอวกาศที่เป็นของจีนเองภายในปี พ.ศ.๒๕๖๕
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์