ข้อมูลในรายงานสมุดปกขาวว่าด้วยจีนกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ของสำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (เพิ่มเติมต่อจากจีนศึกษาเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ ก.ค.๖๑) โดยเฉพาะการเข้าร่วม WTO ของจีนได้ปรับเปลี่ยนโลก และ การปฏิบัติตามระบบ WTO ของจีนนั้น ทำให้เกิดแนวคิดต่างๆ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การเข้าร่วม WTO ของจีน ได้ปรับเปลี่ยนโลก
๑.๑ นายปัสคาล ลามี อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO กล่าวว่า ผู้คนส่วนใหญ่เพียงแต่เห็นถึงการส่งออกของจีน แต่ไม่ได้คิดว่า จีนก็เป็นประเทศใหญ่ด้านการนำเข้าด้วย ปี ๒๐๐๐ (พ.ศ.๒๕๔๓) จีนเป็นประเทศส่งออกอันดับที่ ๗ และประเทศนำเข้าอันดับที่ ๘ ของโลก แต่หลังจากเข้าเป็นสมาชิก WTO ๑๗ ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศส่งออกอันดับ ๑ และประเทศนำเข้าอันดับ ๒ ของโลก และยังเป็นประเทศใหญ่ด้านเศรษฐกิจอันดับ ๒ ของโลก ประเทศการค้าอันดับ ๑ ของโลก ประเทศดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากเป็นอันดับ ๑ รวมถึงเป็นประเทศที่ไปลงทุนในต่างประเทศมากเป็นอันดับ ๒ อีกด้วย การที่จีนเปิดประเทศ ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาเหมือนโจนทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งได้สร้างคุณูปการสำคัญต่อการฟื้นฟูและการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
๑.๒ ตั้งแต่ปี ๒๐๐๒ (พ.ศ.๒๕๔๕) เป็นต้นมา จีนสร้างคุณูปการโดยเฉลี่ย ๓๐% ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และยังคงไว้ซึ่งแนวโน้มนี้จนถึงปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก "เมดอินไชน่า" มิเพียงแต่สร้างโอกาสและคุณค่าให้กับทั่วโลก แต่ "กำลังการบริโภคของจีน" ก็ทำให้ตลาดบริโภคทั่วโลกรู้สึกตื่นเต้นไปตามๆ กัน ในฐานะที่เป็นคู่ค้าสำคัญของกว่า ๑๒๐ ประเทศ ยอดการนำเข้าสินค้าของจีนเพิ่มขึ้น ๑๓.๕% เฉลี่ยต่อปี สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกที่เป็น ๖.๙% นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมี ๑๓๐ ล้านคน การใช้จ่ายในต่างแดนสูงถึง ๑๑๕,๒๙๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ล้วนสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศต่างๆ และเพิ่มโอกาสการมีงานทำ นอกจากนี้ ยังได้สร้างคุณูปการสำคัญในการลดจำนวนประชากรผู้ยากจนด้วย
๒. การปฏิบัติตามระบบ WTO ของจีนนั้น ทำให้เกิดแนวคิดต่างๆ กล่าวคือ
๒.๑ ระบบการค้าพหุภาคีที่ถือ WTO เป็นใจกลางนั้น เป็นพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาการค้าและสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง ปัจจุบัน WTO มีสมาชิก ๑๖๔ ราย ยอดการค้าครองสัดส่วน ๙๘% ของโลก แต่ก็ยังเผชิญกับการท้าทายและข้อสงสัยที่ว่า "WTO ยังมีประสิทธิผลหรือไม่" โดยเฉพาะปีหลังๆ นี้ เกิด "กระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์" ลัทธิกีดกันทางการค้านับวันรุนแรงยิ่งขึ้น และกลไกพหุภาคีทั่วโลกก็อ่อนลง เป็นต้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่มีสมาชิกหลบอ้อม WTO และก่อการปะทะทางการค้าขึ้น
๒.๒ จากมุมมองที่จีนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ นั่นก็คือ จีนคัดค้านลัทธิกีดกันและลัทธิเอกภาคนิยม สนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคีอย่างแน่วแน่ จีนเป็นผู้เข้าร่วม ผู้พิทักษ์และผู้สร้างคุณูปการที่สำคัญของระบบการค้าพหุภาคี ดังนั้น จีนมิเพียงแต่ใช้นโยบายการเก็บภาษีศุลกากรที่เป็นศูนย์ ต่อประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกของ WTO เท่านั้น ทั้งยังเสนอข้อริเริ่ม " หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" กลไกความร่วมมือพหุภาคี ที่รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีเป็นต้นต่อชาวโลก โดยหวังว่าสมาชิก WTO ทั้งหลายจะร่วมได้รับประโยชน์และเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน พร้อมไปกับกระบวนการการเปิดประเทศจีนให้กว้างขึ้น ชาวโลกจะได้รับประโยชน์จากโอกาสการพัฒนาของจีนมากขึ้น ประเทศต่างๆ ควรรักษาและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO สนับสนุนระบบกลไกการค้าพหุภาคีที่เปิดเผย โปร่งใส มีความหลากหลายและไม่มีการดูถูก จึงจะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนรูปแบบต่างๆ สร้าง ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษย์ ที่พึ่งพาอาศัยกันและได้รับประโยชน์สูงร่วมกัน
๓. ข้อสังเกต จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศในแถลงการณ์ว่า “บนพื้นฐานรายชื่อสินค้าที่จะเก็บภาษี ๕๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ จะรวมถึงการเรียกเก็บภาษีร้อยละ ๑๐ ต่อสินค้าจีนมูลค่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของจีนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงและจัดซื้อสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยี" นั้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของจีนเห็นว่า เป็นการกระทำที่สร้างแรงกดดันและข่มขู่ของสหรัฐฯ โดยถือเป็นการฝ่าฝืนความเข้าใจร่วมกันที่ได้พูดคุยและตกลงกันหลายครั้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้จีนรู้สึกผิดหวัง ในการกระทำของสหรัฐฯ ที่ขาดหลักการและเหตุผล ซึ่งจีนจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้อย่างแข็งกร้าวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเช่นกัน
บทสรุป
จีนมีท่าทีสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือ WTO เป็นหลัก ซึ่งเป็นพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาการค้าและสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง ตลอดจนเห็นว่าการต่อสู้ทางการค้าที่สหรัฐฯ ได้วางแผนอย่างตั้งใจ โดยมีเจตนาที่จะสกัดกั้นจีนในสถานะที่เป็นคู่แข่งนั้น ถ้าจีนยอมถอย คู่ค้ารายอื่นๆ ของสหรัฐฯ ก็คงไม่มีใครรอดพ้นไปได้ นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ จะไม่สามารถช่วยสหรัฐฯ ได้ มีแต่จะทำลายโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งระบบการค้าแบบพหุภาคี และห่วงโซ่กิจการทั่วโลกอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ จีนได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการทางการค้าที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของ WTO และจีนได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า นอกจากจะต้องรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศจีนแล้ว ยังต้องรักษาและปกป้องระบบการค้าแบบพหุภาคี และโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบกติกาของ WTO
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.xinhuanet.com/english/2018-06/28/c_137286991.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/06/08/123s267839.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/06/20/121s268175.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/04/04/101s265943.htm
http://thai.cri.cn/247/2018/03/25/223s265626.htm