ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสานต่อแนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ให้ถึงที่สุดและการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ (贯彻新发展理念,建设现代化经济体系。) เพื่อบรรลุเป้าหมาย“๑๐๐ ปีของสองเหตุการณ์” (“两个一百年”) และสานฝันของประเทศจีน ในการสร้างประเทศจีนที่มั่งคั่งและยิ่งใหญ่ให้เป็นจริง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาประเทศ ให้เป็นภารกิจอันดับแรกของพรรคฯ ในการบริหารประเทศ ยืนหยัดในหลักการเปิดกว้างและการพัฒนาศักยภาพทางการผลิตของสังคม ยืนหยัดแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาดภายใต้สังคมนิยม ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง (ตอนที่ ๑ ความโดยทั่วไป การปฏิรูปโครงสร้างให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านอุปทาน และการเร่งสร้างประเทศแห่งนวัตกรรม) กล่าวคือ
๑. ความโดยทั่วไป เศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนจากการขยายตัวในอัตราสูงสู่การพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ อยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงแรงขับเคลื่อนสำหรับการเจริญเติบโต การสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ถือเป็นความต้องการเร่งด่วนในการก้าวข้ามอุปสรรค์และเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศจีน ต้องยึดมั่นเรื่องคุณภาพเป็นที่หนึ่ง ให้ความสำคัญเรื่องศักยภาพ ให้การปฏิรูปโครงสร้างทางด้านอุปทานเป็นแนวทางหลัก ผลักดันคุณภาพการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปทางศักยภาพ การปฏิรูปแรงขับเคลื่อน ยกระดับอัตรากำลังการผลิตปัจจัยรวม เร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่พัฒนาแบบผสมผสานทั้งการสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ระบบการเงินสมัยใหม่ และด้านทรัพยากรมนุษย์ มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจภายใต้ตลาดที่มีระบบ มีพลังขับเคลื่อนต่อเศรษฐศาสตร์จุลภาค และมีการควบคุมในระดับมหภาค ยกระดับการสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง โดย
๑.๑ การปฏิรูปโครงสร้างให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านอุปทาน (深化供给侧结构性改革。)
๑.๒ การเร่งสร้างประเทศแห่งนวัตกรรม (加快建设创新型国家。)
๑.๓ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท (实施乡村振兴战略。)
๑.๔ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประสานกันในระดับภูมิภาค (实施区域协调发展战略。)
๑.๕ การเร่งปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม (加快完善社会主义市场经济体制。)
๑.๖ การส่งเสริมการเปิดเสรีแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ (推动形成全面开放新格局。)
๒. สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในด้านอุปทาน ((深化供给侧结构性改革。) จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง มุ่งยกระดับคุณภาพของระบบอุปทานเป็นทิศทางหลักอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งต้องเร่งสร้างการเป็นประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ ผลักดันให้เกิดการผสมผสานในเชิงลึกระหว่างอินเทอร์เน็ตข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) ปัญญาประดิษฐ์และเศรษฐกิจที่แท้จริง ต้องบ่มเพาะจุดพัฒนาและแรงกระตุ้นใหม่ๆ ของกลุ่มผู้บริโภคระดับ High-End นวัตกรรม การดูแลสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ห่วงโซ่อุปทานที่ทันสมัย การบริการด้านต้นทุนบุคลากรสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานของอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม เร่งการพัฒนาของอุตสาหกรรมการบริการที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากลส่งเสริมอุตสาหกรรมของจีนให้เข้าสู่ตลาดกลางและตลาดบนในระดับโลก และต้องบ่มเพาะกลุ่มการผลิตสมัยใหม่ระดับโลกจำนวนหนึ่งรวมทั้งการเพิ่มการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน ทางรถไฟ ทางหลวง การขนส่งทางน้ำ การบิน ท่อส่งไฟฟ้า ข้อมูลข่าวสาร และการขนส่ง เป็นต้น ยืนหยัดตัดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่มากเกินไป โดยตัดการสต๊อกสินค้า ลดหนี้ และลดต้นทุน ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร อันก่อให้เกิดสภาพสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สร้างแรงกระตุ้นของผู้ประกอบการ กระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมสร้างอุตสาหกรรมและนวัตกรรม สร้างแรงงานที่มีความรู้ มีทักษะและมีความคิดสร้างสรรค์ ให้สังคมเชิดชูแรงงานและความเป็นมืออาชีพ
๓. ส่วนการเร่งสร้างประเทศนวัตกรรมใหม่ ((加快建设创新型国家。) นั้น เนื่องจากนวัตกรรมเป็นเครื่องผลักดันการพัฒนาและเป็นยุทธศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งต้องตามติดการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก เพิ่มความเข้มข้นของการวิจัยพื้นฐานให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญล้ำหน้า เกิดเป็นลิขสิทธิ์ที่มีความนำสมัยเพิ่มการวิจัยเพื่อการใช้งานจริงขยายโครงการใหญ่ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เน้นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ มีความล้ำหน้าเป็นโครงการที่นำสมัย เป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีโฉมใหม่โดยสิ้นเชิง เพื่อช่วยสร้างประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศที่มีคุณภาพ ประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านอวกาศ ด้านอินเตอร์เน็ต ด้านคมนาคม ด้านดิจิตอลและสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาเพิ่มความเข้มข้นของการสร้างระบบใหม่ๆ ในประเทศ เพิ่มศักยภาพของยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเชิงลึก สร้างระบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมโดยมีกลไกตลาดเป็นตัวชี้นำ และบูรณาการในเชิงลึกระหว่างการศึกษา การวิจัยและการผลิต เพิ่มการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และนำผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์จริง ริเริ่มชี้นำการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม เพิ่มการสร้าง การปกป้อง และการใช้งานผลงานที่มีสิทธิทางปัญญา ผลิตบุคลากรที่มีความสามารถระดับสากล ได้แก่ บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ บุคลากรด้านผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคลากรรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทีมบุคลากรนวัตกรรมชั้นสูง เป็นต้น
บทสรุป
ในการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยมุ่งยกระดับคุณภาพของระบบอุปทานเป็นทิศทางหลักอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบด้านคุณภาพเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งต้องเร่งสร้างการเป็นประเทศนวัตกรรมใหม่ เนื่องจากนวัตกรรมเป็นเครื่องผลักดันการพัฒนาและเป็นยุทธศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ดังกล่าวในข้างต้น ทั้งนี้ ยังต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประสานกันในระดับภูมิภาค และการเร่งปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบตลาดสังคมนิยม ตลอดจนการส่งเสริมการเปิดเสรีแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะได้นำเสนอเป็นตอนที่ ๒ ต่อในจีนศึกษาฉบับวันพรุ่งนี้ครับ
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://cpc.people.com.cn/n1/2017/1028/c64094-29613660.html