bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๓๐ ต.ค.๖๑ : ความร่วมมือระหว่างจีนกับเมียนมาในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

ความร่วมมือระหว่างจีนกับเมียนมาในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายใต้โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายอู เทียนอัง หัวหน้าวิศวกร กรมสะพาน กระทรวงการคมนาคมเมียนมาชื่นชมว่า เทคโนโลยีการสร้างทางถนนและสะพานของจีนอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก และเมียนมายินดีจะนำเข้าเทคโนโลยีจากจีน ทั้งนี้ กระบวนการสร้างสาธารณูปโภคดังกล่าว ดำเนินการไปภายใต้การปฏิบัติตามแผนโครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ระหว่างจีนกับเมียนมา ซึ่งเป็นผลงานอันน่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก โดยสะพานข้ามแม่น้ำหลายแห่งที่ก่อสร้างขึ้นไม่เพียงแต่สร้างความสะดวกให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน หากยังเป็นสื่อแห่งมิตรภาพระหว่างประชาชนจีนและเมียนมาอีกด้วย

๒. ความร่วมมือระหว่างจีนกับเมียนมาในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในรอบปีนี้
        ๒.๑ เมื่อวันที่ ๒๒ ต.ค.๖๑ จีน-เมียนมา ได้ลงนามบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับโครงการทางรถไฟมูเซ-มัณฑะเลย์ ระยะทางประมาณ ๔๓๑ กิโลเมตร ซึ่งมีผู้แทนของจีนกับเมียนมาร่วมกันลงนามในบันทึกช่วยจำเกี่ยวกับการวิจัยความเป็นไปได้ของการสร้างทางรถไฟมูเซ-มัณฑะเลย์ โดยนายหง เลี่ยง เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมากล่าวว่า จีนกับเมียนมามีความร่วมมือในโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกันของโครงสร้างพื้นฐานทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางรถไฟถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ปัจจุบัน การค้าระหว่างสองประเทศมีความคึกคัก แต่มีปัญหาด้านการขนส่งสินค้า ดังนั้น การก่อสร้างทางรถไฟมูเซ-มัณฑะเลย์จะแก้ปัญหาการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างสองประเทศ
        ๒.๒ เมื่อวันที่ ๒๘ ม.ค.๖๑ มีการจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ของจีน กับสมาคมพัฒนาโครงการ"หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" ของเมียนมา ที่เมืองย่างกุ้ง โดยมีผู้แทนจากสถาบันวิจัยโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มณฑลหยุนหนาน สมาคมพัฒนาโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางพม่า สมาคมมิตรภาพเมียนมา-จีน หอการค้าเมียนมา สมาคมนักธุรกิจชาวจีนในเมียนมาและองค์กรอื่นๆ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามดังกล่าว

๓. ข้อสังเกต
        ๓.๑ นาย U Ye Htun นักวิจารณ์การเมืองเมียนมาได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า โครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI สามารถส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโลก รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วย สำหรับเมียนมาที่เป็นประเทศรายทางตามนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ด้วย ทำให้มีการก่อสร้างทางรถไฟ ทางหลวง การปฏิรูปด้านพลังงาน ผลิตภัณฑ์เมียนมาไปสู่ตลาดต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศจะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสการมีงานทำ รวมทั้งเร่งการพัฒนาในภูมิภาค
        ๓.๒ นายหง เลี่ยง เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่ากล่าวในที่ประชุมว่า เงินทุนเป็นเสมือนโลหิตของเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเชื่อมต่อด้านเงินทุน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ แนวทางที่ระบุไว้ตามข้อเสนอ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" นั้น มีวัตถุประสงค์จะกระตุ้นเงินทุนให้ไหลเวียนอย่างคล่องตัว เป็นการให้หลักประกันต่อการเดินหน้าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในภาพรวม จะได้อำนวยการสนับสนุนด้านเงินทุนที่เพียงพอและการบริการด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงต่อการปฏิบัติตามโครงการต่างๆ
        ๓.๓ นายหลิง จินซิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) กล่าวว่า การที่สองฝ่ายลงนามข้อตกลงความร่วมมือนั้น มีเป้าหมายที่จะจัดการแลกเปลี่ยนของคลังสมองให้ดียิ่งขึ้น ก่อตั้งกลไกความร่วมมือ ช่วยวิสาหกิจจีนทำความเข้าใจกับกฎหมายและนโยบายการพัฒนาของเมียนมา ร่วมกันจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่การลงทุนในเมียนมา ตลอดจนผลักดันการสร้างสรรค์โครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI และระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา โดยเฉพาะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่สองฝ่ายต่างเผชิญอยู่ เพื่อให้ประชาชนเมียนมาได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาของจีนให้มากยิ่งขึ้น เร็วยิ่งขึ้น และร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมา

บทสรุป

ผู้นำเมียนมา เช่น นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาให้ความเห็นว่า โครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI เป็นความริเริ่มที่จะสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน โดยเมียนมาและจีนได้มีการเตรียมงานล่วงหน้าก่อนที่จะร่วมมือกันเสมอ ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีนจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างเมียนมา-จีน จะเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยาวนานได้นั้น จะต้องเกิดจากการประสานงานกันและอยู่บนพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/2169878/china-myanmar-look-railway-project-linking-muse-mandalay

http://thai.cri.cn/247/2018/10/23/226s272742.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/07/13/225s268965.htm 

http://thai.cri.cn/247/2018/10/12/64s272260.htm 

http://thai.cri.cn/247/2017/10/23/62s259647.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/08/01/302s269670.htm 

http://www.mizzima.com/business-domestic/china-myanmar-sign-mou-feasibility-study-muse-mandalay-railway

https://www.railwaygazette.com/news/infrastructure/single-view/view/mandalay-to-china-railway-feasibility-study-agreed.html