ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อเช้าวันที่ ๓ พ.ย.๖๒ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน เข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ ๒๒ ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะตัวแทนประเทศประธานหมุนเวียนของอาเซียน เป็นประธานอำนวยการประชุมฯ ซึ่งที่ประชุมลงมติว่าจะกำหนด “แผนปฏิบัติการเพื่อเดินหน้าตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มุ่งหน้าสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง (ปี ๒๐๒๑ – ๒๐๒๕)” และออกแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” “เมืองอัจฉริยะ” “การแลกเปลี่ยนกับความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชน” และที่ประชุมประกาศว่า ปี ๒๐๒๐ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิตอลจีน-อาเซียน นอกจากนี้ ผู้นำที่ร่วมประชุมยังร่วมชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับ China ASEAN Young Leaders Scholarship
๒. ข้อคิดเห็นของ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ต่อการประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ ๒๒
๒.๑ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งประชาคมอาเซียน โดยจีนสนับสนุนอาเซียนในฐานะศูนย์กลางอันเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือเอเชียตะวันออกมาโดยตลอด ซึ่งสอดคล้องกับที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยกล่าวไว้ว่า ต้องร่วมมือกันสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกัน โดยปีที่ผ่านมา ชาวจีนและชาวอาเซียนได้เดินทางไปมาระหว่างกันมากถึง ๕๗ ล้านครั้ง
๒.๒ แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้สร้างความความท้าทายใหม่ ๆ ให้กับนานาประเทศ ดังนั้น จีนและกลุ่มประเทศในอาเซียนจึงควรร่วมกันปกป้องระบบพหุภาคีและการค้าเสรี ทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความเสี่ยง โดยยึดมั่นในหลักการของการได้ประโยชน์ร่วม และยกระดับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ในการวางรากฐานให้กับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก บรรลุพิธีสารเพื่อเแก้ไขความตกลงภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) รวมทั้งส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน และรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
๒.๓ สำหรับหลักการ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (COC) คือการยกระดับ “ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” (DOC) ซึ่งมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี โดยจีนหวังว่าแต่ละฝ่ายจะเคารพหลักการแต่ละประการของปฏิญญาฯ ขจัดอุปสรรคกีดขวางและก้าวไปข้างหน้า ผลักดันการหารือตามกำหนดเวลา เพื่อบรรลุการทบทวนรอบที่ ๒ ในปี ๒๐๒๐
๒.๔ นอกจากการส่งเสริมมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมแล้ว ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การศึกษา และการท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่จีนให้ความสำคัญ โดยใน ๓ ปีข้างหน้า จีนยินดีฝึกอบรมผู้ดูแลด้านสุขภาพและช่างเทคนิคมืออาชีพของอาเซียนจำนวน ๑,๐๐๐ คน และสนับสนุนทุนการศึกษาจีน-อาเซียน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีในหมู่ประชาชน
๒.๕ จีนยึดมั่นในเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ และยุทธศาสตร์การเปิดกว้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และยินดีที่จะเชื่อมโยงความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาของทั้งประชาคมอาเซียนโดยรวม และยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเดินหน้าสร้างเส้นทางการขนส่งตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งผลักดันการเจริญเติบโตในเอเชียตะวันออก และส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ และความปลอดภัยของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การปกป้องระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมทางทะเล พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีการอนุรักษ์น้ำ เป็นต้น
บทสรุป
บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียนต่างแสดงความเชื่อมั่นว่า จีนจะสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือในภูมิภาค ตลอดจนยินดีที่จะร่วมรังสรรค์แผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับจีน โดยขยายความเชื่อมโยงและการลงทุนระหว่างกัน ส่งเสริมการร่วมมือทางนวัตกรรม อีคอมเมิร์ซ เมืองอัจฉริยะ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เพื่อบรรลุเป้าหมายยอดการค้า ๑ ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งได้ประกาศให้ปี ๒๐๒๐ เป็นปีแห่งการร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-อาเซียนอีกด้วย ในขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวว่า จีนและไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านฉันมิตร ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้รักษาแนวโน้มการพัฒนาที่เป็นปกติและมั่นคง และการเยือนไทยครั้งนี้จะเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างจีนและไทยให้มากขึ้น ทำให้ความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กันระหว่างสองประเทศอยู่ในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างสองประเทศประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.chinadaily.com.cn/a/201911/02/WS5dbd8c91a310cf3e355750ff.html
http://thai.cri.cn/20191103/c6de4431-2aeb-82e7-1a4c-2abfaa6ad34c.html
https://workpointnews.com/2019/11/04/chinese-prime-minister-asian/
http://thai.cri.cn/20191104/d0ca595c-df7e-7e8b-a5e7-87703f933af6.html
https://www.chinadaily.com.cn/a/201911/02/WS5dbd8422a310cf3e355750fb.html
https://www.xinhuathai.com/highlight%B3_20191103
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/853081