การประชุมสองสภา (ตอนที่ ๓) ว่าด้วยความเคลื่อนไหวในการเปิดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติของจีน ชุดที่ ๑๓ ครั้งที่ ๒ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การประชุมประจำปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ของสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาทางการเมืองสูงสุดของจีนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อวันที่ ๓ มี.ค.๖๒ ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนต่างได้เข้าร่วมการประชุม โดยนายวัง หยาง (汪洋) ประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนกล่าวในรายงานผลการดำเนินงานว่า ปีนี้ เป็นปีสำคัญของการสร้างสังคมนิยมที่มีกินมีใช้ ซึ่งสภาฯ จะแสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษาและประสานงาน ในการช่วยกำกับดูแลการบริหารงานของรัฐบาล รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้คำปรึกษา และสร้างการรวมพลังให้เกิดความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น
๒. ประเด็นที่ถูกจับตามองว่าน่าจะถูกหยิบยกเข้าสู่การปรึกษาหารือในสภาฯ ซึ่งนายกัว เว่ยหมิน โฆษกของการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีนชุดที่ ๑๓ ครั้งที่ ๒ ได้แถลงว่า
๒.๑ นับตั้งแต่นำเสนอข้อริเริ่มหรือโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) เป็นต้นมา จีนได้เสียงตอบรับในเชิงบวกอย่างมาก จนถึงปลายปีที่แล้ว มีประเทศและองค์กรระหว่างประเทศจำนวนกว่า ๑๐๐ แห่งสนับสนุนและเข้าร่วมการสร้างสรรค์ตามข้อริเริ่มดังกล่าว โดยโครงการสำคัญต่างๆ ได้รับการปฏิบัติและเริ่มมีผลที่ชัดเจน มีการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องที่ต่างๆ และได้รับการต้อนรับจากประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มากขึ้น รวมทั้งได้รับการชื่นชมจากประชาคมโลก ทั้งนี้ กรณีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินของประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” บางประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเดิม ในขณะที่โครงการลงทุนของจีนส่วนใหญ่จะเป็นโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน โดยเกี่ยวข้องกับอนาคต ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาและสร้างความหวังให้กับประเทศต่างๆ เหล่านี้
๒.๒ สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน จะสนับสนุนให้การก่อสร้างเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า โดยในช่วงการประชุมสองสภาของปีนี้ สมาชิกสภาที่ปรึกษาการเมืองจะจัดการประชุมเพื่อเจรจาปัญหาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ทั้งนี้ สภาฯ ได้ให้ความสำคัญต่องานดังกล่าว เนื่องจากในที่ประชุมของปีที่ผ่านมา มีสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองหลายคน ได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างเขตอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า ซึ่งมีข้อเสนอจำนวน ๑๕๘ ฉบับ ได้ถูกบันทึกไว้ รวมทั้งในปีนี้จะจัดการประชุมเกี่ยวกับการสร้างศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนในเขต และจัดให้สมาชิกที่ปรึกษาการเมืองไปดูงานที่เกี่ยวข้อง
บทสรุป
ประเด็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการสร้างอารยธรรมและระบบนิเวศ รวมไปถึงการทำให้จีนเป็นสังคมที่มีกินมีใช้อย่างถ้วนทั่วนั้น ล้วนเป็นภารกิจที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีการปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรม อันจะทำให้ประชาชนสามารถอนุรักษ์ระบบนิเวศต่อไปได้เอง และเป็นการระดมพลังจากทุกภาคส่วนในสังคมอย่างมีเอกภาพ จนทำให้ นายเสอ เค่อ สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นนายกสภาวิทยาศาสตร์แห่งมณฑลเจียงซี เสนอให้มีการพิจารณากำหนดวันที่ ๑๕ ส.ค. เป็นวันอารยธรรมและระบบนิเวศของจีน
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://thai.cri.cn/20190303/ad9b2c10-704c-98f3-c03f-fbb7908f1638.html
http://thai.cri.cn/20190303/31f0d9c2-1bba-f4a6-df8f-7c4710e4e253.html
http://thai.cri.cn/20190303/7042de4c-a97d-7543-9c97-750871df64de.html
http://thai.cri.cn/20190302/b68acbb0-b967-f7d5-42ab-9889923a6676.html
http://lr.china-embassy.org/eng/gyzg/jgiejgi/tfgajg/t372885.htm