bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๖ ส.ค.๖๒ ท่าทีและผลกระทบจากสถานการณ์ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้แถลงกับสื่อมวลชนครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๕ ส.ค.๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ว่า กลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง (ซึ่งเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเต็มรูปแบบ และการไต่สวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมผู้ประท้วง) ได้กระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมสถานีตำรวจ และการปิดกั้นการให้บริการรถไฟสาธารณะ อันเป็นการท้าทายหลักการของ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และคุกคาม “ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคง” ของฮ่องกง นอกจากนี้ ยังได้ประณามผู้ประท้วงที่ขว้างธงชาติจีนลงทะเล เมื่อวันที่ ๓ ส.ค.๖๒

๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๙ ก.ค.๖๒ นายหยาง กวง โฆษกสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของคณะมนตรีแห่งรัฐ ( HKMAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานของแผ่นดินใหญ่ที่มีอำนาจกำกับดูแลความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับฮ่องกงและมาเก๊า แถลงที่กรุงปักกิ่งว่า ยังคงมีชาวฮ่องกงจำนวนมาก ขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง ต่อหลักการปกครองแบบ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จึงยังมีความวิตกกังวลต่อสภาพการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ และร่างกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน มาเก๊าและไต้หวัน ซึ่งในที่สุดคณะผู้บริหารภายใต้การนำของนางแคร์รี แลม ตัดสินใจแขวนร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลกลางของจีนก็ได้ยอมรับและเข้าใจการตัดสินใจของนางแคร์รี แลม ทั้งนี้ รัฐบาลกลางของจีนยังยืนยันต่อการสนับสนุนในระดับสูงสุดต่อนางแคร์รี แลม และทีมงาน พร้อมทั้งย้ำว่า หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” มีความเหมาะสมสำหรับการบริหารฮ่องกงและมาเก๊า

๓. หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ (One Country Two Systems)” เป็นแนวคิดของนายเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่สอง เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาการรวบรวมเกาะฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน โดย “หนึ่งประเทศ” คือความเป็นจีนเดียวโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษชาวจีนต้องสละเลือดเนื้อและชีวิตในการพิทักษ์มาตุภูมิไว้ ส่วน “สองระบบ” คือความปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างการปกครองด้วยระบบสังคมนิยมของแผ่นดินใหญ่กับระบบทุนนิยมของฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ที่ถึงแม้จะมีความแตกต่าง แต่ก็เป็นชาติเดียวกัน ทั้งนี้ หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ได้เป็นข้อตกลงระหว่างนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีนเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๑๙๙๗ (พ.ศ.๒๕๔๐) ซึ่งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ฮ่องกงจะเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ที่สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเศรษฐกิจเสรี

๔. ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานะของฮ่องกงที่มีจุดแข็ง ๔ ประการ ต่อการสนับสนุนข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แก่
        (๑) การที่ฮ่องกงมีบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของจีนและของโลก โดยจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างจีนกับประเทศและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ตามเส้นทาง
        (๒) ฮ่องกงได้จัดตั้งสำนักงานสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Financing Facilitation Office) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการเงินให้กับบริษัทที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีสถาบันการเงินการธนาคารกว่า ๖๐ แห่ง ได้เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ
       (๓) ฮ่องกงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น Mass Transit Railway Corporation (MTRC) ของฮ่องกง ซึ่งได้บริหารเส้นทางรถไฟทั้งในจีน อังกฤษ สวีเดน และออสเตรเลีย ฯลฯ และ
       (๔) ฮ่องกงมีที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์ของเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ โดยเป็นศูนย์กลางของกรอบความร่วมมืออ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macau Bay) ที่ครอบคลุมพื้นที่ ๑๑ เมืองในจีน ซึ่งมีประชากรถึง ๖๖ ล้านคน เป็นต้น

บทสรุป
บรรดานักวิเคราะห์ต่างกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงตกอยู่ในสภาวะที่อันตราย ภายใต้สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในขณะที่มีการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ อันจะทำให้กิจการร้านค้า ร้านอาหารและร้านค้าปลีกจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ ๒ ที่มีการเติบโตติดลบ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเหมือนเดิมในไตรมาสที่ ๓ ก็ยิ่งจะทำให้ฮ่องกงประสบกับสภาวะถดถอยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและความมั่นคงภายในของจีน ตลอดจนบทบาทของจีนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินโครงการพัฒนาตามกรอบข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.channelnewsasia.com/news/asia/carrie-lam-hong-kong-protests-mass-strike-11781120

https://mgronline.com/china/detail/9620000074228

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641660

https://www.gotoknow.org/posts/452474

https://globthailand.com/china_0034/

https://www.rappler.com/world/regions/asia-pacific/237080-carrie-lam-hong-kong-protests-push-city-dangerous-situation