bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๗ เม.ย.๖๓ การสร้างความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๗ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. นายเว่ย ไป่กัง (Wei Baigang) อธิบดีกรมแผนการพัฒนาการเกษตรและเขตชนบทจีน ได้กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๔ เม.ย.๖๓ ณ กรุงปักกิ่ง ว่า ตั้งแต่ปี ๒๐๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๓) เป็นต้นมา ปริมาณธัญญาหารเฉลี่ยต่อคนของจีนมากกว่าระดับเฉลี่ยของโลกมาโดยตลอด และเมื่อปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ปริมาณธัญญาหารเฉลี่ยต่อคนของจีนมากกว่า ๔๗๐ กิโลกรัม (มาตรฐานเฉลี่ยต่อคนของโลกอยู่ที่ ๔๐๐ กิโลกรัม) โดยในช่วงระยะเวลาหลายปีมานี้ จีนมีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเก็บเกี่ยวทุกปี โดยมีปริมาณการเก็บเกี่ยวมากกว่า ๖๕๐,๐๐๐ ล้านกิโลกรัมติดต่อกันเป็นเวลา ๕ ปีมาแล้ว

๒. แนวทางการสร้างความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) ตามแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทของจีน (ปี พ.ศ.๒๕๖๑ - ๒๕๖๕) ในการพัฒนาการทำเกษตรและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท ซึ่งจีนจะมีความพร้อมในระบบข้อมูลเพื่อสร้างแผนที่พื้นที่เพาะปลูก การปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศและการควบคุมการเกษตรแบบแม่นยำ โดยเฉพาะการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาศักยภาพในการผลิต โดยมีระบบการบริหารจัดการที่พร้อม และเป็นการทำเกษตรแบบสมัยใหม่ อันประกอบด้วย  
     ๒.๑ การกำหนดแผนในการสร้างพื้นที่ ๒ เขต คือ เขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยจะเป็นพื้นที่ทางการเกษตรถาวรระยะยาวสำหรับการเพาะปลูกพืชที่กำหนด และไม่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรด้านอื่นได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แนะในการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช (ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด) เป็นพื้นที่ ๓๗๕ ล้านไร่ และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ (ถั่วเหลือง ฝ้าย เมล็ด rapeseed อ้อย และยางพารา) เป็นพื้นที่ ๙๙.๑๗ ล้านไร่
     ๒.๒ การกำหนดโซนเพาะปลูกในพื้นที่ ๒ เขตทั่วประเทศจีน จะพิจารณาจากสภาพพื้นที่การเกษตรเดิมที่เคยทำการปลูกพืชชนิดนั้น ๆ โดยในระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชชนิดนั้นไม่ลดลง สภาพนิเวศวิทยาอยู่ในสภาพดี สภาพดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ ความลาดเอียงของพื้นที่น้อยกว่า ๑๕ องศา เลือกพื้นที่ให้ต่อเนื่องกันเพื่อพัฒนาเป็นแปลงใหญ่ โดยหากเป็นที่ราบรวบรวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า ๒๐๘.๓๓ ไร่ หากเป็นที่บริเวณภูเขารวมพื้นที่ใม่น้อยกว่า ๒๐.๘๓ ไร่ ทั้งนี้ หากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการพัฒนาการเกษตรมาตรฐานระดับสูงอยู่แล้วก็จะได้รับคัดเลือกก่อน หากเป็นพื้นที่เพาะปลูกยาง ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอากาศที่หนาวเย็น และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า ๙๐๐ เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการกรีดยาง
     ๒.๓ การดำเนินการสร้างพื้นที่ ๒ เขต เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะส่งเสริมให้เป็นการทำการเกษตรแบบมาตรฐานสูง สร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคด้านน้ำที่ใช้ในการเกษตรและการทำระบบให้เข้าสู่แปลงโดยชลประทานประหยัดน้ำ การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีและให้ผลผลิตสูง ยกระดับให้เป็นการทำการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี ใช้ระบบอินเทอร์เน็ต และ cloud รวมถึงระบบข้อมูล big data เข้ามาร่วมด้วย
     ๒.๔ การสร้างการรับรู้ด้านนโยบายเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วม โดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นมีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้หลักประกันในการใช้พื้นที่ในการพัฒนาการเกษตรเพื่อสร้างเขตพื้นที่ผลิตข้าวและธัญพืช และพืชเกษตรที่สำคัญในระยะยาว เช่น การสนับสนุนก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อใช้ในการเกษตรจนถึงระดับแปลง การหาแหล่งเงินกู้ยืมให้กับเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ และการประกันความเสียหายในการเพาะปลูก เป็นต้น
     ๒.๕ รัฐบาลระดับมณฑลจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการเลือกพื้นที่ ๒ เขต ที่นำเสนอจากเมืองและอำเภอต่าง ๆ ในมณฑล แล้วจึงส่งข้อมูลให้กับกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสำเนาให้กับกระทรวงการคลัง กระทรวงที่พักอาศัยและการพัฒนาเขตเมือง-ชนบท และกระทรวงทรัพยากรน้ำ โดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจะเป็นเป็นผู้ชี้แนะการสร้างแผนที่อิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูล เพื่อสามารถรวมให้เป็นภาพใหญ่ของทั้งประเทศ และจะต้องรายงานผลการดำเนินงานการจัดสร้างเขตพื้นที่ให้กับคณะรัฐมนตรีจีนทราบด้วย

๓. ข้อสังเกต จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีน พบว่า เมื่อปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ปริมาณการผลิตธัญญาหารของจีนสูงถึง ๖๖๔ ล้านตัน เพิ่มขึ้น ๐.๙% เมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) และถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ติดต่อกันในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ปริมาณสะสมธัญญาหารในคลังของจีนมีเพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงข่าวของนายหวัง ปิง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการอุปโภค กระทรวงพาณิชย์จีน เมื่อวันที่ ๒ เม.ย.๖๓ ว่า ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ข้าวสาร ข้าวสาลี และข้าวโพด ในคลังมีปริมาณกว่า ๒๘๐ ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และหากไม่มีการนำเข้าก็จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนธัญญาหารแต่อย่างใด

บทสรุป

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้ราคาธัญญาหารระหว่างประเทศในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ธัญญาหารในคลังของจีนยังคงมีปริมาณเพียงพอ ดังนั้น ราคาธัญญาหารและอาหารต่าง ๆ ในตลาดจีนจึงมีเสถียรภาพ ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลาง พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กล่าวเน้นว่า “ชามข้าวของคนจีนจะต้องถือไว้อย่างมั่นคงด้วยมือของตัวเอง จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการผลิตข้าวและธัญพืชที่สำคัญ ให้มีความปลอดภัยและสามารถป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศ” อันเป็นการตอกย้ำถึงการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

https://www.tellerreport.com/business/2020-04-05---china-s-grain-prices-are-stable-and-the-public-does-not-need-to-snap-up-hoards-.ByZwB1SvwI.html 

http://thai.cri.cn/20200405/e423c670-ed0e-3d47-c010-405ca2a890bf.html

http://www.xinhuanet.com/english/2020-04/04/c_138947536.htm

https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-news-files-411891791063

https://www.prachachat.net/columns/news-287400

http://thai.cri.cn/20200403/5fe49f1a-1c43-c59b-8b76-79366d1b7db8.html

http://www.scio.gov.cn/zfbps/32832/Document/1666228/1666228.htm