bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๙ ก.ค.๖๒ เมืองโบราณเหลียงจู่ (Liangzhu) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยปัจจุบันอยู่ในบริเวณตำบลอี๋ว์หาง นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียงของจีน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๖ ก.ค.๖๒ ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ ๔๓ ณ กรุงบากู เมืองหลวงของประเทศอาเซอร์ไบจาน ได้ให้ความเห็นชอบในการขึ้นทะเบียนเมืองโบราณเหลียงจู่ของจีนเป็นมรดกโลก ตามมาตรฐานข้อ ๓ และ ๔ ของมรดกโลก จึงทำให้ปัจจุบัน จีนมีมรดกโลกโดยรวมแล้วจำนวนถึง ๕๕ แห่ง

๒. เมืองโบราณเหลียงจู่ในสมัยโบราณเรียกว่า “เจิ้นเจ๋อ” ได้แสดงถึงอารยธรรมและประเพณีทางวัฒนธรรมของจีนริมฝั่งแม่น้ำแยงซีตอนล่าง โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลสาบไท่หู ที่มีประวัติกว่า ๕,๐๐๐ ปี (ในราวช่วง ๓,๓๐๐ – ๒,๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) และได้ขุดพบโบราณสถานทางวัฒนธรรมกว่า ๑,๐๐๐ แห่ง ดังนั้น การขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ จึงได้รวมถึงเมืองโบราณ ระบบชลประทานในเมือง สุสานของบุคคลที่มีฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน ตลอดจนวัตถุโบราณต่างๆ ที่ขุดพบ เช่น เครื่องหยก สุสาน และแท่นบูชา เป็นต้น

๓. สำหรับบริเวณที่เป็นจุดศูนย์กลางของเขตเมืองโบราณเหลียงจู่มีขนาดใหญ่ราว ๑๔.๓ ตารางกิโลเมตร และเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้ให้ประชาชนเข้าชมได้ ๓.๖๖ ตารางกิโลเมตร โดยคณะกรรมการบริหารพื้นที่เหลียงจู่ ได้จำกัดผู้เข้าชมเพียงวันละ ๓,๐๐๐ คนเท่านั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน

บทสรุป
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองโบราณเหลียงจู่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงบทบาทของแม่น้ำแยงซี ที่สะท้อนถึงกระบวนการพัฒนาอารยธรรมของจีน และแสดงถึงประโยชน์หลายด้าน ทั้งการวางผังเมืองในยุคต้น ๆ ช่วงการเริ่มต้นก่อสร้างเมือง ดังนั้น การขุดพบเมืองโบราณเหลียงจู่ จึงถือเป็นการขุดค้นพบที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อารยธรรมจีนกว่า ๕,๐๐๐ ปี

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
https://www.youlinmagazine.com/story/liang-zhu-ancient-city-gaining-prestige-beyond-china/MTA3OA==

http://thai.cri.cn/20190707/45daf650-fd81-4f69-c0d9-9194c2f91fb8.html

https://mgronline.com/china/detail/9620000064891

http://thai.cri.cn/20190706/764a9100-a201-780e-bfdf-4074c0e53bb5.html

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/839941

https://www.viewofchina.com/liangzhu-culture/