กรณีที่นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อกลุ่มคลังสมอง เมื่อค่ำวันที่ ๔ ต.ค.๖๑ ว่า จีนแทรกแซงกิจการภายในและการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ทำให้โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนต้องออกมาปฏิเสธและแถลงคัดค้าน ในขณะ ๒ ปีที่ผ่านมา ได้มีนักวิชาการของสหรัฐฯ นำเสนอเรื่องราวของสงครามพันทาง (Hybrid War) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การสงครามพันทาง (Hybrid War) จะใช้วิธีการทางทหารร่วมกับวิธีการทางพลเรือนในยามสงบเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารแบบดั้งเดิม เช่น การควบคุมหรือการยึดครองดินแดน โดยการทำสงครามพันทางในยามสงบ ซึ่งเป็นการจัดเตรียมยุทธบริเวณสำหรับการปฏิบัติการทางทหารในอนาคต ด้วยการขยายการควบคุมทางทหารไปทั่วภูมิประเทศที่มีการแย่งชิงกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อความสะดวกในการใช้ขีดความสามารถทางด้านการรุกและการรับในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง
๒. นายทหารเกษียณอายุของกองทัพบกสหรัฐฯ ชื่อ พันเอก อาร์เธอร์ เอ็น. ทูลัก (Arthur N. Tulak) ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร Indo-Pacific Defense Forum เมื่อปี ๒๐๑๖ (พ.ศ.๒๕๕๙) เรื่อง “การสงครามพันทาง-ความท้าทายใหม่ในสภาพแวดล้อมทางสารสนเทศ” โดยเน้นเนื้อหาสาระว่า
๒.๑ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA (People’s Liberation Army) ได้นำหลักการของการสงครามพันทางไปใช้ร่วมกับหลักนิยมของกองทัพ โดยการผสมผสานกันระหว่างการปฏิบัติตามแบบและนอกแบบ ด้วยการใช้กองกำลังพลเรือนและกึ่งทหาร เช่น เรือของหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานประมง เรือสำรวจน้ำมัน แท่นขุดเจาะน้ำมัน ตลอดจนเรือประมงและเรือพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศจีน ออกไปปฏิบัติการเพื่อแสดงอิทธิพลและยืนยันการอ้างสิทธิของจีนในดินแดนและเขตแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้
๒.๒ การส่งเรือประมงจำนวนมากไปทำหน้าที่ “กองกำลังทางทะเล”นั้น เป็นยุทธวิธีที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับเกาะไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๙๐ (พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๔๒) โดยจีนได้จัดส่งฝูงเรือออกไปปิดล้อมหมู่เกาะรอบนอกของเกาะไต้หวันในช่วงระยะเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมือง รวมทั้งกับญี่ปุ่นที่บริเวณใกล้กับหมู่เกาะเซนกากุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕ และเมื่อเร็วๆ นี้ จีนได้ใช้ยุทธวิธีดังกล่าวนี้กับฟิลิปปินส์ในการเผชิญหน้าเพื่อคุมเชิงที่บริเวณเกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล เพื่อขัดขวางไม่ให้หน่วยยามฝั่งหรือกองทัพเรือของรัฐคู่ปรับเข้าสู่พื้นที่ โดยที่จีนไม่ต้องใช้กำลังทหารอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนี้ จีนยังมีการใช้เรือขุดลอกเพื่อสร้างแนวหมู่เกาะเทียมบนสันดอนและแนวปะการังที่จมอยู่ใต้น้ำในทะเลจีนใต้และทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก ควบคู่ไปกับการดำเนิน “ภารกิจทางด้านข่าวสาร”ที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
๒.๓ มีการวางแผนในระดับยุทธศาสตร์ในการแพร่กระจายข่าวสารไปทั่วโลก ซึ่งภารกิจทางด้านข่าวสารนี้สอดคล้องกับหลักนิยม “การสงครามสามกลยุทธ์” ของ PLA ซึ่งประกอบด้วยการปฏิบัติ กิจกรรม และการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางจิตวิทยาและกฎหมาย โดยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน “การอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์” และแนวความคิดในเรื่อง “อำนาจอธิปไตยในดินแดนที่ไม่อาจโต้แย้งได้” ในขณะที่มีการขุดลอกทรายและถมเกาะเทียม ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนก็จะให้เหตุผลอันชอบธรรมทางพลเรือนในการยึดครองแนวปะการัง สันดอนและเกาะเล็กเกาะน้อยที่กำลังมีการแย่งชิงกรรมสิทธิ โดยอ้างถึงผลประโยชน์มากมายที่ประชาคมนานาชาติจะพึงได้จากการบริหารจัดการและการควบคุมของจีน
๓. ข้อสังเกต มีนักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศได้ชี้ว่า การที่จีนใช้วิธีการทางพลเรือนและกึ่งทหารตามหลักการสงครามพันทางเพื่อให้ได้มาซึ่งดินแดนเช่น ในทะเลจีนใต้ ฯลฯ มีความคล้ายคลึงกับกรณีของรัสเซีย กล่าวคือ
๓.๑ สงครามพันทางของรัสเซีย มีจุดมุ่งหมาย ๓ ประการคือ (๑) เพื่อยึดดินแดนโดยไม่ต้องใช้กำลังทหารตามแบบอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การผนวกดินแดนที่แหลมไครเมียจากยูเครนในปี ๒๐๑๔ (พ.ศ.๒๕๕๗) โดยอาศัยกำลังและเครื่องมือจาก “กลุ่มชายชุดเขียวเล็ก” (Little green men) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่รัสเซียเพิ่งตั้งขึ้น แต่ว่าไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นทหารรัสเซีย และสื่อรัสเซียบางสำนักได้เรียกว่า “กลุ่มสุภาพชนติดอาวุธ” ผสมผสานกับการปฏิบัติการข่าวสาร รวมทั้งใช้กลุ่มตัวแทนที่เป็นชาวรัสเซียที่พำนักในพื้นที่สร้างสถานการณ์ขึ้นจนกระทั่งสามารถผนวกไครเมียได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ (๒) เพื่อแสดงขีดความสามารถการใช้สงครามพันทางต่อการผนวกดินแดนในที่อื่นได้ เช่น ในกลุ่มประเทศบอลติก ฯลฯ และ (๓) เพื่อแสดงอิทธิพลทางการเมืองและนโยบายต่อประเทศตะวันตก
๓.๒ เครื่องมือในการทำสงครามพันทางของรัสเซีย เช่น การปฏิบัติการข่าวสาร โดยใช้สื่อของรัสเซียทูเดย์ หรือ RT และสำนักข่าวสปุตนิกในการสร้างโลกทรรศน์ทางการเมือง-เศรษฐกิจแบบรัสเซีย นอกจากนี้ ยังใช้รายการทางโทรทัศน์ และการให้ทุนแก่สำนักคิดในยุโรปเพื่อส่งเสริมทัศนะที่ดีต่อรัสเซีย รวมทั้งการสร้างข่าวปลอมขึ้น นอกจากนี้ ยังได้สร้างนักรบไซเบอร์ขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อล้วงความลับจากระบบข่าวสารตะวันตก และการสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ โดยใช้พลังงานเป็นเครื่องมือทางนโยบายการต่างประเทศ ทำให้ในหลายประเทศในยุโรปต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เป็นต้น
บทสรุป
แนวโน้มของหลักการสงครามพันทาง (Hybrid War) ได้ปรากฏให้เห็นมากขึ้น จากการที่ประเทศมหาอำนาจต่างๆ พยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหาร โดยไม่ต้องการแสดงความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามทางทหารได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไปสู่รูปแบบการใช้วิธีการทางพลเรือนและกึ่งทหารมากขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติการข่าวสารและการปฏิบัติการทางไซเบอร์ของสงครามพันทางตั้งแต่ในยามสงบ
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_42778
https://www.matichonweekly.com/column/article_43523
http://www.thaindc.org/images/sub_1317847833/013%20Military.pdf
https://thediplomat.com/2018/01/chinas-hybrid-warfare-and-taiwan/
https://warisboring.com/chinas-little-blue-men-prepare-for-hybrid-warfare/
https://www.zerohedge.com/news/2018-09-10/chinese-fishermen-wage-hybrid-war-asian-seas