bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอังคารที่ ๙ เม.ย.๖๒ : ความคืบหน้าและความคาดหวังในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ความคืบหน้าและความคาดหวังในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ในด้านความคืบหน้า นายหลิว เฮ่อ กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รองนายกรัฐมนตรีจีน หัวหน้าฝ่ายจีนในการเจรจาเศรษฐกิจรอบด้านจีน-สหรัฐฯ กับนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ร่วมเป็นประธานการเจรจาเศรษฐกิจการค้าระดับสูงจีน-สหรัฐรอบที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๓ – ๕ เม.ย.๖๒ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหนังสือข้อตกลงว่าด้วยการถ่ายโอนเทคโนโลยี คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษี ธุรกิจบริการ การเกษตร ความสมดุลทางการค้าและแนวทางปฏิบัติ เป็นต้น ได้ประสบผลคืบหน้าใหม่ และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเจรจาด้านปัญหาที่ค้างคาอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ กันต่อไป

๒. สำหรับความคาดหวัง จากกรณีเมื่อวันที่ ๔ เม.ย.๖๒ นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พบปะกับนายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ริเริ่มการพูดคุยเจรจาระดับสูงด้านเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยมีสัญญาณในเชิงบวกที่สอดรับกับปฏิกริยาจากประชาคมโลกที่กำลังต้องการให้จีนและสหรัฐฯ ร่วมกันรักษาภาระหน้าที่ระดับโลก ได้แก่
        ๒.๑ ภาระหน้าที่ในการพัฒนา เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนายังคงเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องมาก่อน การเติบโตทางเศรษฐกิจต้องอาศัยแรงกระตุ้นใหม่ ขณะที่การพัฒนาต้องอำนวยประโยชน์แก่ประเทศทั่วโลกมากขึ้น และมีความสมดุลมากขึ้น เพื่อขจัดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน จีนและสหรัฐฯ ในฐานะประเทศใหญ่ทางเศรษฐกิจ มีภาระหน้าที่ที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการพัฒนา
        ๒.๒ ภาระหน้าที่ด้านการผดุงสันติภาพ ทั้งนี้ในปัจจุบัน มนุษย์ยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ความวุ่นวายในบางพื้นที่ การแพร่กระจายของลัทธิก่อการร้าย และการคุกคามด้านความปลอดภัยแบบใหม่ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ในฐานะประเทศประจำคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จีนและสหรัฐฯ ต่างมีภาระหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลสันติภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นคงของโลก
        ๒.๓ ภาระหน้าที่ด้านการบริหารปกครอง โดยในหลายปีมานี้ ลัทธิกระทำฝ่ายเดียว (Unilateralism) ลัทธิคุ้มครอง (Protectionism) และลัทธิประชานิยม (Populism) มีแนวโน้มฟื้นตัว ซึ่งกำลังทำลายระบบธรรมาภิบาลของโลก (Global governance system) ที่สร้างขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างไรก็ตามการปฏิรูปองค์การการค้าโลกนั้น ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมเจรจากัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการปกครอง ตลอดจนรักษาระบบการค้าพาหุภาคี คุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมให้ระบบธรรมาภิบาลระดับโลกปรับปรุงดีขึ้นเรื่อย ๆ

บทสรุป

แม้ว่าการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้า รอบที่ ๙ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะมีความคืบหน้าไปอย่างมากในการจัดการข้อขัดแย้งระหว่างกัน และขยายความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันก็ตาม แต่การรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่มั่นคง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายตลอดจนทั่วโลก และไม่เพียงแต่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังจะเป็นภาระหน้าที่ระดับโลกที่จีนและสหรัฐฯ ควรรับผิดชอบในฐานะประเทศใหญ่ดังที่ประชาคมโลกได้คาดหวังไว้อีกด้วย

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3004568/chinas-vice-premier-liu-he-us-trade-representative-robert

http://thai.cri.cn/20190407/72d4d7b9-71c7-82b6-8c99-a36c6a11f476.html 

http://thai.cri.cn/20190406/c6abbe7c-d966-1797-a942-6f2f276fba55.html 

http://thai.cri.cn/20190405/64f361df-bab6-d22e-15b4-957ce9f62b3a.html