bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑ ก.ย.๖๒ การจัดงานเฉลิมฉลอง “๗๐ ปีสาธารณรัฐประชาชนจีน” ในวันที่ ๑ ต.ค.๖๒

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง จะกล่าวสุนทรพจน์สำคัญ พร้อมมีพิธีสวนสนามของกองทัพและขบวนพาเหรดของมวลชนอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ในวันที่ ๑ ต.ค.๖๒ ซึ่งเป็นวันชาติของจีน และปีนี้เป็นปีที่จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (สถาปนาประเทศเมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ปี ๑๙๔๙ หรือ พ.ศ.๒๔๙๒)

๒. กิจกรรมเฉลิมฉลองดังกล่าว ยังรวมถึงพิธีมอบเหรียญเชิดชูและใบประกาศเกียรติคุณ แก่บุคคลดีเด่นที่ได้รับการยอมรับจากมวลชน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างผลงานที่โดดเด่นแก่สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีน ปกป้องประเทศชาติ มีคุณธรรมอันสูงส่ง จะได้รับ "เหรียญสาธารณรัฐประชาชนจีน" สำหรับชาวต่างชาติที่มีผลงานดีเด่นในการสร้างความทันสมัยให้กับสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศ ปกป้องสันติภาพของโลกจะได้รับ "เหรียญมิตรภาพ" นอกจากนี้ สำหรับบุคคลดีเด่นในวงการต่าง ๆ ที่ได้สร้างผลงานสำคัญ มีชื่อเสียงและคุณธรรมอันสูงส่ง และได้รับการยอมรับจากมวลชน จะได้รับ “เหรียญเกียรติยศแห่งชาติ” จากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อีกด้วย

๓. การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในรอบ ๗๐ ปีของจีน
        ๓.๑ ด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของจีนปรับปรุงดีขึ้น โดยได้พัฒนาจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมตติยภูมิ (Tertiary Production) คือ มีการนำผลผลิตขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิส่งไปถึงมือผู้บริโภคอย่างสะดวก ตลอดจนการให้บริการและการอำนวยความสะดวก เช่น การประกันภัย การธนาคาร การบรรจุหีบห่อ เป็นต้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการผลิตขั้นตติยภูมิมากกว่าขั้นอื่นๆ
        ๓.๒ ด้านการคมนาคม จนถึงสิ้นปี ๒๐๑๘ จีนมีทางรถไฟระยะทางรวม ๑๓๑,๐๐๐ กิโลเมตร เพิ่มขึ้น ๕ เท่า เมื่อเทียบกับปี ๑๙๔๙ ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นทางรถไฟความเร็วสูง ๒๙,๐๐๐ กิโลเมตร มากกว่าระยะทางโดยรวมของประเทศอื่น ๆ ในโลก
๓.๓ ด้านการใช้อินเทอร์เนต ปี ๒๐๑๘ จีนมีผู้ใช้บรอดแบนด์เคลื่อนที่ ๑,๓๑๐ ล้านคน สร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ใหญ่ที่สุดของโลก
        ๓.๔ ด้าน กำลังการผลิตพลังไฟฟ้าทั่วประเทศจีนสูงถึง ๑,๙๐๐ ล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้น ๓๒.๓ เท่าเมื่อเทียบกับปี ๑๙๗๘ รวมทั้ง จีนยังเป็นผู้นำด้านพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล และพัฒนามาเป็นประเทศใหญ่ด้านการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
        ๓.๕ ด้านการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร หลังจากจีนดำเนินการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและเปิดประเทศสู่ภายนอก รัฐบาลจีนได้กำหนดและใช้นโยบายปฏิรูปเกษตรกรรมและเขตชนบทอย่างต่อเนื่องและลงลึก ทำให้ลดจำนวนประชากรยากจน โดยเฉพาะหลังจากการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศจีนครั้งที่ ๑๘ เป็นต้น พรรคฯ และรัฐบาลจีนได้ทุ่มเทกำลังแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะช่วง ๖ ปีที่ผ่านมา ได้ลดจำนวนประชากรยากจนกว่า ๘๒ ล้านคน จนถึงสิ้นปี ๒๐๑๘ ประชากรยากจนในชนบทจีนลดลงเหลือแค่ ๑๖.๖ ล้านคน เขตชนบทจีนได้เปลี่ยนสภาพความยากจนโดยทั่วไปมาเป็นขจัดความยากจนโดยรวม กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่บรรลุเป้าหมายการลดความยากจนของสหประชาชาติ
        ๓.๖ ด้านการศึกษาภาคบังคับและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ก็นำผลประโยชน์มาให้กับประชาชน โดยในปี ๒๐๑๘ อัตราการเข้ารับการศึกษาของจีนสูงถึง ๙๔.๒% อัตราผู้เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเกือบเป็น ๔๘% ซึ่งพอ ๆ กับระดับของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง และระดับสูง มีห้องสมุดสาธารณะ ๓,๑๗๓ แห่ง จำหน่ายหนังสือชนิดต่าง ๆ กว่า ๙,๕๐๐ ล้านเล่ม เพิ่มขึ้น ๓๔ เท่าเมื่อเทียบกับปี ๑๙๕๐ และสามารถจิตสำนึกด้านการออกกำลังกายในหมู่ชาวจีนทั่วไป ที่มีผู้ออกกำลังกายเป็นประจำจำนวนกว่า ๔๐๐ ล้านคน
        ๓.๗ ยอดการค้าระหว่างประเทศของจีนจัดอยู่อันดับ ๑ ของโลก มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าตลาดจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปี ๒๐๐๑ จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ตั้งแต่นั้นมา การค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในปี ๒๐๑๘ จีนรับการลงทุน (ที่มิใช่ทางการเงิน) โดยตรงจากนักธุรกิจต่างชาติ ๑๓๕,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๑๔๖ เท่าเมื่อเทียบกับปี ๑๙๘๓ และ ธุรกิจด้านการบริการรับเงินทุนต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า ๖๘% ในปี ๒๐๑๘
        ๓.๘ จีนแสดงท่าทีที่จะเร่งการปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ด้วยการประกาศเปิดตลาดจีนให้กว้างขึ้น มีการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีใหม่อีก ๖ แห่ง (รวมกับของเดิม ๑๒ แห่ง เพิ่มเป็นจำนวน ๑๘ แห่ง) รวมทั้งลดระดับภาษีศุลกากรให้ต่ำลงอีกขั้น ปรับปรุงบรรยากาศการประกอบธุรกิจ ยกเลิกข้อกำหนดทั้งหมดที่อยู่นอกบัญชีดำเกี่ยวกับการอนุมัติการเข้าตลาดจีนของทุนต่างชาติ และในปีหน้าจะบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนของพ่อค้าต่างชาติฉบับใหม่ และยกระดับการคุ้มครองสิทธิทรัพยสินทางปัญญาให้สูงขึ้น เป็นต้น

บทสรุป
๗๐ ปีของการสถาปนาจีนใหม่ทำให้จีนมีการเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีน ที่มีประวัติยาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปี ปัจจุบัน ได้พัฒนาเป็นมหานครสากลอันทันสมัย มีทั้งโบราณสถานเก่าแก่และอาคารสูงเสียดฟ้ากระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุง โดยกำลังศึกษาค้นคว้าหนทางการพัฒนาใหม่เพื่อให้เมืองหลวงของจีนแห่งนี้น่าอยู่และมีระบบนิเวศที่ดี เช่น การให้ความสำคัญในการอนุรักษ์บ้าน “สื่อเหอย่วน” รูปแบบที่พักดั้งเดิมที่มีเอกลักษณ์ของกรุงปักกิ่ง เพื่อรักษาบรรยากาศดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง เป็นต้น อันเป็นการผสานความเก่าแก่เข้ากับความทันสมัยได้อย่างกลมกลืน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
http://www.xinhuanet.com/english/2019-08/29/c_138348112.htm

http://thai.cri.cn/20190829/350f3144-41c8-2fbe-8fa5-a97fab37da74.html

http://thai.cri.cn/20190822/c9a64422-11e0-2ce1-22ee-15b9284ee538.html

http://chayakonpost.blogspot.com/2012/02/blog-post_5319.html

http://thai.cri.cn/20190816/650dcf76-1857-4732-f63e-69a9d28f7109.html

http://thai.cri.cn/20190827/e2a83710-3a11-7ed4-6981-4b473dd8cc60.html

http://thai.cri.cn/20190828/dd919294-5d5e-f729-3ead-a7952f6d3c32.html