bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๒ ส.ค.๖๑ : ข้อมูลในเอกสารปกขาวของรัฐบาลจีน ที่ได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘

เอกสารปกขาวของรัฐบาลจีน ที่ได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่อง “วิสัยทัศน์และปฏิบัติการ ว่าด้วยการร่วมสร้างแนวเขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑” (Vision and Actions on Jointly Building Silk Road Economic Belt and 21st - Century Maritime Silk Road) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขณะไปเยือนประเทศคาซัคสถาน เมื่อเดือน ก.ย.๕๖ และประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ต.ค.๕๖ อันป็นที่มาของความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ประกอบด้วย ๘ หัวข้อหลัก ดังนี้

๑. ความเป็นมา เนื่องจากภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของโลก มีการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนจนก่อให้เกิดความไม่สมดุลต่อภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งควรมีการส่งเสริมให้เกิดการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจและความร่วมมือที่กว้างขวางและเชิงลึกมากขึ้น โดยร่วมกันสร้างแนวเขตเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ อันจะเป็นรูปแบบใหม่ของความร่วมมือระหว่างประเทศ

๒. หลักการ ความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักการอยู่ร่วมกันของกฎบัตรสหประชาชาติ ในห้าประการ ได้แก่ (๑) ความเคารพซึ่งกันและกันในอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน (๒) ร่วมกันที่ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน (๓) ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน (๔) ความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน และ (๕) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

๓. กรอบแนวคิดความริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นวิธีการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองและเป็นเส้นทางไปสู่ความสงบสุขและมิตรภาพ โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันและความไว้วางใจรวมทั้งการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนอย่างรอบด้าน ผ่านทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาโดยเชื่อมโยงกันเป็นวงกลมเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ คือ

        ๓.๑ ประการแรก การเชื่อมโยงเอเชียกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปเข้าด้วยกัน เพื่อให้ภูมิภาคเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนและสร้างประโยชน์ร่วมกัน ในการสร้างห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่ธุรกิจ ห่วงโซ่คุณค่า และการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการสร้างระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ และช่องทางการขนส่งคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและพื้นที่ทุรกันดาร อีกทั้งเป็นการช่วยลดต้นทุนการค้าการลงทุนและขจัดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นการผลักดันให้การรวมกลุ่มเศรษฐกิจ ความเสรีทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเปิดตลาดซึ่งกันและกัน ของประเทศที่มีความประสงค์ตามเส้นทางสายนี้ให้มีระดับสูงยิ่งขึ้น โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนต้องการสันติภาพ เปิดกว้าง และต้องการหยิบยื่นโอกาสการพัฒนาให้กับเอเชียและโลก
        ๓.๒ ประการที่สอง ยึดถือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานและเป็นแกนหลัก พร้อมทั้งยึดถือการแลกเปลี่ยนบุคคลและวัฒนธรรมเป็นตัวหนุนสำคัญ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศในภูมิภาค ซึ่งฝ่ายจีนจะปฏิบัติตามหลักการร่วมหารือกับประเทศตามเส้นทางสายนี้ ร่วมกันระดมความคิดเห็นและอาศัยความร่วมมือระหว่างกันผลักดันให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นเหตุผลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม และถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในระดับประชาชนตามเส้นทางสายไหม

๔. ลำดับความสำคัญของความร่วมมือ ด้วยการดำเนินการที่ประกอบด้วย (๑) การประสานงานด้านนโยบาย (๒) การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อ (๓) การขจัดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า (๔) การเสริมสร้างความร่วมมือการควบคุมทางการเงินแบบบูรณาการ (๕) การสร้างความสัมพันธ์จากประชาชนสู่ประชาชน

๕. กลไกของความร่วมมือ โดยเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ผ่านกลไกที่มีอยู่เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) อาเซียนกับจีน (๑๐+๑) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) และการประชุมเอเชียกับยุโรป (ASEM) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของการประชุมระหว่างประเทศและการจัดนิทรรศการในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น Boao Forum เป็นต้น

๖. การเปิดสู่ภูมิภาคของจีน โดยการปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแผ่อิทธิพลและแสวงหาผลประโยชน์ของจีนด้วยการเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย ๒ ส่วน ได้แก่
        ๖.๑ ส่วนที่ ๑ การเชื่อมโยงทางบก (Silk Road Economic Belt) เป็นการเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเส้นทางสายไหมเดิม โดยเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการขยายการค้าในระดับภูมิภาค ด้วยการสร้าง Eurasian Land Bridge อันเป็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย, ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน เป็นต้น ประกอบด้วย ๓ เส้นทาง ได้แก่ (๑) เส้นทางที่ ๑ เชื่อมโยงจีนกับเอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรป (๒) เส้นทางที่ ๒ เชื่อมโยงจีนกับอ่าวเปอร์เซีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านทางเอเชียกลาง และตะวันออกกลาง (๓) เส้นทางที่ ๓ เชื่อมโยงจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้
        ๖.๒ ส่วนที่สอง การเชื่อมโยงทางทะเล (Maritime Silk Road/Route) ถือเป็นความริเริ่มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ รวมถึงด้านการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ได้แก่ อาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย โดยจะมีการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน และระเบียงเศรษฐกิจจีน-บังคลาเทศ-อินเดีย เป็นต้น

๗. การดำเนินการของจีน นอกจากการเยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ กว่า ๒๐ ประเทศของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เพื่อสร้างความเข้าใจแล้ว ยังมีการลงนามในกรอบความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มความร่วมมือ

๘. การร่วมกันประคับประคองอนาคตที่สดใส โดยเน้นการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน และความไว้วางใจกันบนผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งสร้างความร่วมมือแบบ win-win และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรมที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะเสริมสร้างจุดแข็งให้แก่กันและกันในการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาร่วมกันในที่สุด

บทสรุป

นับเป็นความพยายามของจีนในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองไปสู่ประเทศต่างๆ บนเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งจะเป็นช่องทางที่สำคัญของจีนในการก้าวสู่การเป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสันติวิธีและมีบทบาทในเวทีการเมืองโลกที่แข็งแกร่งต่อไป

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

แหล่งข้อมูล

National Development and Reform Commission, Ministry of Foreign Affairs, and Ministry of Commerce of the People's Republic of China, with State Council authorization. (2015). Vision and actions on jointly building silk road economic belt and 21st - century maritime silk road. Beijing: Foreign Language Press.