bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เม.ย.๖๓ การกำหนดทิศทางการปฏิรูปปัจจัยการผลิตของจีน

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางการปฏิรูปปัจจัยการผลิตของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๙ เม.ย.๖๓ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีน ประกาศเอกสารแสดงจุดยืนเกี่ยวกับการสร้างระบบจัดสรรปัจจัยการผลิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกำหนดทิศทางการปฏิรูปปัจจัยการผลิตตามประเภทต่างๆ เช่น ที่ดิน แรงงาน เงินทุน  เทคโนโลยี และข้อมูล เป็นต้น เพื่อกำหนดรายละเอียดในการสร้างระบบจัดสรรปัจจัยการผลิตที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ในเอกสารดังกล่าว ได้ระบุว่า ต้องส่งเสริมให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล และให้โครงการเงินทุนสากลสามารถแลกเปลี่ยนระหว่างเงินทุนต่างประเทศกับเงินหยวนได้ ผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าถึงทุนจีนสำหรับสถาบันการเงินต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้สถาบันการเงินในประเทศเข้าร่วมการทำธุรกรรมในตลาดการเงินระหว่างประเทศ

๒. ข้อสังเกต
     ๒.๑ ข้อมูลจากเอกสาร China 2030 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยศึกษาร่วมกันระหว่างธนาคารโลก (World Bank) กับศูนย์วิจัยการพัฒนาแห่งคณะรัฐมนตรีจีน (Development Research Center of the State Council : DRC) เมื่อปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) กล่าวถึงสภาวะของจีนหลังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า
             ๒.๑.๑ จีนต้องเผชิญปัญหาใหม่ๆ คล้ายๆ กับปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ โดยกลยุทธ์การพัฒนาแบบเดิมจะไม่สามารถทำให้จีนหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างจีนให้เป็นสังคมที่ทันสมัย มีความกลมกลืนสมานฉันท์ และมีนวัตกรรมการสร้างสรรค์
        .     ๒.๑.๒ การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น จีนต้องใช้กลยุทธ์การพัฒนาแบบใหม่ ที่แตกต่างจากกลยุทธ์การพัฒนาในอดีต ที่ผ่านๆ มา ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีการดำเนินการที่เหมือนๆ กันอยู่ ๕ ประการ เช่น นโยบายเปิดกว้างด้านการค้าและการลงทุน เพื่อเอาประโยชน์จากเศรษฐกิจโลก การรักษาเศรษฐกิจโดยรวมให้มีเสถียรภาพ ประเทศมีการออมและลงทุนสูง การปล่อยให้กลไกตลาดเข้ามามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ และการที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งมั่นในการดำเนินการ เป็นต้น
               ๒.๑.๓ จีนได้เดินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเส้นทางการพัฒนา คือเศรษฐกิจเดินมาถึงจุดที่เป็นข้อจำกัด เรียกว่า “พรมแดนเทคโนโลยี” ดังนั้น การจะก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าว ต้องอาศัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแบบใหม่ที่ต่างจากเทคโนโลยีในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อไล่ตามเศรษฐกิจประเทศที่ก้าวล้ำหน้าไปแล้ว บทบาทของภาคเอกชนจึงมีความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดังกล่าว เพราะนวัตกรรมไม่สามารถจะเกิดขึ้นจากการวางแผนของรัฐ แต่กระบวนการคิดค้นนวัตกรรมเกิดจากการลองผิดลองถูก ยิ่งภาคเอกชนมีส่วนมากเท่าใดในกระบวนการค้นหานวัตกรรม ก็จะมีโอกาสมากขึ้นในการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งการแปรเปลี่ยนการค้นพบใหม่ไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางพาณิชย์
              ๒.๑.๔ จีนต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแกนสำคัญของกลยุทธ์ใหม่คือ การปรับบทบาทของรัฐที่มีต่อเศรษฐกิจกลไกตลาด และการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องถอนตัวจากเดิม ที่มีบทบาทโดยตรงด้านการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ แล้วหันมามีบทบาทเป็นผู้วางกฎระเบียบต่างๆ
     ๒.๒ ความเคลื่อนไหวของจีนที่ได้เดินหน้าในการผลักดันเงินหยวนให้มีบทบาทเป็นสกุลเงินสากลในตลาดการเงินและการค้าโลกครั้งสำคัญ หลังจากในช่วงหลายปีก่อนเงินหยวนได้เข้าไปเป็น ๑ ใน ๕ สกุลหลักของโลกที่อยู่ในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วย เพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายขยายเส้นทางขนส่งทางเรือ อากาศและทางบก ในการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงกัน ๓ ทวีปทั้งเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) อันเป็นยุทธศาสตร์เส้นทางทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ของจีน และการที่จีนได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องรวม ๑๘ แห่ง หลังจากที่ได้จัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นการนำร่องใหัระบบการทำงานได้สอดประสานกัน โดยธนาคารกลางจีนยืนยันสนับสนุนเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล เพื่อการมีรากฐานที่แข็งแกร่งในอนาคต

บทสรุป

 
นอกจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ แล้ว ข้อสังเกตจากเอกสาร China 2030 ดังกล่าว และความเคลื่อนไหวของจีนในการผลักดันเงินหยวนให้มีบทบาทเป็นสกุลเงินสากลนั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และคณะรัฐมนตรีจีน เห็นถึงความจำเป็นของการกำหนดทิศทางการปฏิรูปปัจจัยการผลิตของจีน เพื่อกำหนดรายละเอียดในการสร้างระบบจัดสรรปัจจัยการผลิตที่สมบูรณ์ต่อไป

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์