ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ ๔๓ ปี ก่อนหน้านี้ ต่อกรณีการจากไปของนายโจว เอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ผู้ได้รับฉายา “สุภาพบุรุษนักการทูต” ที่ได้สร้างคุณูปการยิ่งใหญ่แก่ทั้งประเทศจีนและโลก เมื่อวันที่ ๘ ม.ค.๑๙๗๖ (พ.ศ.๒๕๑๙) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายโจว เอินไหล เกิดที่เมืองหวยอัน(淮安)มณฑลเจียงซู เมื่อวันที่ ๕ มี.ค.๑๘๙๘ (พ.ศ.๒๔๔๑) เป็นนักรบ นักการเมือง นักการทูต เป็นคู่บารมีร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนายเหมา เจ๋อตง จนพาประชาชาติจีนยืนขึ้นได้ ฝ่าวิกฤตขัดแย้งมากมายในยุคต้นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการนำจีนสู่เวทีสากล โดยเฉพาะในช่วงวัยหนุ่ม นายโจว เอินไหล มีบทบาทสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ช่วงก่อตั้ง ทั้งด้านการรบ การเผยแพร่ความคิดของเหมา เจ๋อตง เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) นายโจว เอินไหลก็ได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปี ๑๙๗๖ (พ.ศ.๒๕๑๙) จนชาวจีนต่างเรียกขานท่าน "นายกโจว" (周总理) กันจนติดปาก
๒. ผลงานที่สำคัญ
๒.๑ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศช่วงปี ๑๙๔๙ - ๑๙๕๘ (พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๕๐๑) ได้สร้างคุณูปการโดดเด่นที่สุดในด้านการทูตระหว่างประเทศ หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง (ค.ศ.๑๙๕๐-๑๙๕๓) โดยสนับสนุนนโยบายทางการทูตแนวสันติวิธี
๒.๒ หลังปี ๑๙๕๘ (พ.ศ.๒๕๐๑) แม้ว่านายโจว เอินไหล จะลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการบัญชาการรบในหมากทางการทูตของจีน และยังเข้าร่วมการเจรจาทางการทูตครั้งสำคัญๆทั้งหมด โดยพาะเป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศกลุ่มทุนนิยมที่พัฒนาแล้ว อาทิ อังกฤษ และเชื่อมสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ.๑๙๖๔ (พ.ศ.๒๕๐๗) ซึ่งนับเป็นการเปิดม่านไม้ไผ่สู่ดินแดนยุโรปอย่างจริงจัง รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา ทั้งยังเป็นผู้เสนอทิศทางการฟื้นฟูมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ โจวเอินไหลยังมีการติดต่อกับประเทศแถบทวีปเอเชียและแอฟริกา โดยเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในแถบนี้กว่า ๒๔ ประเทศ และในขณะเดียวกัน โจวเอินไหลผู้นี้เช่นกันที่เจรจาปัญหาชายแดนระหว่างจีนกับเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้เป็นผลสำเร็จด้วย
๒.๓ นายโจว เอินไหล มีบทบาทสำคัญในการผลักดันสมาชิกภาพของจีนในองค์การสหประชาชาติ หรือ UN จนกระทั่งในปี ๑๙๗๑ (พ.ศ.๒๕๑๔) จีนก็ได้เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทนที่สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน
๒.๔ นายโจว เอินไหล เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนในวันที่ ๑ ก.ค.๑๙๗๕ (พ.ศ.๒๕๑๘)
๓. ข้อสังเกต จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยกับจีนเริ่มกลับมาสานความสัมพันธ์ต่อกัน หลังจากที่ห่างเหินกันไประยะเวลาหนึ่งจากปัญหาการต่อสู้ทางลัทธิการเมืองในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การมีโอกาสพบปะกันระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทนไทย คือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยขณะนั้น กับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ในการประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน เม.ย.๑๙๕๕ (พ.ศ.๒๔๙๘) ซึ่งการได้พบปะพูดคุยกันในเวทีดังกล่าว ทำให้ผู้นำในรัฐบาลไทยรู้ว่า จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และรัฐบาลจีนก็มีนโยบาย "อยู่ร่วมกันโดยสันติ" หรือ “หลักปัญจศีล” หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนก็เริ่มเดินหน้าอีกครั้งอย่างลับๆ จนนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนในวันที่ ๑ ก.ค.๑๙๗๕ (พ.ศ.๒๕๑๘)
บทสรุป
มรดกทางความคิดที่สำคัญเรื่องหนึ่งของ นายโจว เอินไหล ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำและเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศก็คือ การแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนที่มั่นคงมาโดยตลอด ในการนำจีนให้กลับมาสู่เวทีโลก หลังจากที่นานาชาติเคยมีความพยายามที่จะโดดเดี่ยวกีดกันจีน โดยเห็นว่า ยังมีเป้าหมายหลัก และเป้าหมายรองอีกมากมายที่จำเป็นต้องใช้เวลา ไม่อาจสำเร็จได้ในระยะสั้น หรือบรรลุได้พร้อมกันในทุกเรื่อง แต่เรื่องสำคัญคือ การเปิดประตูสู่ตะวันตก และการมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ "โลกหลายขั้วอำนาจ" ซึ่งเป็นที่มาของ "หลักปัญจศีล" (การเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน การไม่รุกรานซึ่งกันและกัน การธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาคและมีผลประโยชน์ร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ) โดยความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของจีนในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศต่างๆ บนหลักการ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ที่ร่วมริเริ่มกับรัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียคือ ชวาหะร์ลาล เนห์รู ในปี ค.ศ.๑๙๕๔ ( พ.ศ.๒๔๙๗) ซึ่งเป็นจุดยืนที่สำคัญของจีนด้านการต่างประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.historytoday.com/dick-wilson/beatification-comrade-zhou-enlai
https://mgronline.com/china/detail/9620000003293
https://mgronline.com/china/detail/9550000041412
https://www.encyclopedia.com/people/history/chinese-and-taiwanese-history-biographies/zhou-enlai