bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ก.ย.๖๑ : แผน ๔ ประการในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกไกล

แผน ๔ ประการในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกไกลภายใต้สถานการณ์ใหม่ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Forum : EEF) ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ย.๖๑ ณ เมืองวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย ในหัวข้อเรื่อง "แบ่งปันโอกาสใหม่แห่งการพัฒนาตะวันออกไกล สร้างอนาคตใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ" โดยได้นำเสนอแผน ๔ ประการเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกไกลภายใต้สถานการณ์ใหม่ ได้แก่ (๑) การเพิ่มความเชื่อถือ (๒) การกระชับความร่วมมือ (๓) การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และ (๔) การมองการณ์ไกล ซึ่งถือเป็นการวางแผนและเติมพลังใหม่ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคตะวันออกไกล

๒. ประเทศในภูมิภาคตะวันออกไกล หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมี ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย มองโกเลีย เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีจำนวนประชากรคิดเป็นร้อยละ ๒๓ ของประชากรโลก มีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ ๑๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก ทั้งนี้ การประชุมเศรษฐกิจตะวันออกที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๐๑๕ (พ.ศ.๒๕๕๘) ถือเป็นเวทีใหม่แห่งความร่วมมือของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือได้กลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีศักยภาพมากที่สุด และมีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่ทว่า อิทธิพลจากลัทธิลำพังฝ่ายเดียวและลัทธิกีดกันทางการค้า ได้ขัดขวางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศภายในภูมิภาค ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ทุกประเทศจึงมีความปรารถนาร่วมกันที่จะสร้างรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เปิดกว้าง

๓. ข้อสังเกต

การที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีข้อเสนอเกี่ยวกับการสร้างกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกไกล หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ การเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ การยกระดับการเชื่อมโยงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มการค้าเสรีและการลงทุนที่สะดวก โดย
        ๓.๑ ผลักดันความร่วมมือแบบพหุภาคีระดับภูมิภาค และความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญคือ โครงการความริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งนับวันยิ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น โดยประเทศต่าง ๆ พากันแสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้
        ๓.๒ ปัจจุบัน จีนและรัสเซียกำลังร่วมกันพัฒนา "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI และผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างสหพันธ์เศรษฐกิจยุโรป-เอเชีย ซึ่งความร่วมมือนี้ได้ประสบความสำเร็จในขั้นต้น โดยจีนยินดีแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนากับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือบนพื้นฐานนี้ นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้กับความร่วมมือดังกล่าว

บทสรุป

ปัจจุบัน สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกไกล หรือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจีน-รัสเซีย ซึ่งกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่พัฒนาในระดับสูงอย่างรวดเร็ว ถือเป็นแบบอย่างของความร่วมมือภายในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดกว้าง นอกจากจะสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแล้ว ยังเป็นขุมพลังสำคัญในการพิทักษ์ความร่วมมือแบบพหุภาคี และส่งเสริมให้การจัดระเบียบโลกมีความเที่ยงธรรม และสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ผู้นำจีน-รัสเซียได้ร่วมกันกำหนดขึ้น ทำให้การดำเนินความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-รัสเซีย มีแนวโน้มการพัฒนาไปด้วยดี และเข้าสู่ช่วงการพัฒนาในระดับสูง ตลอดจนมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว และจะเป็นการขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกด้านระหว่างสองประเทศ รวมทั้งจะสนับสนุนให้ความร่วมมือในภูมิภาคตะวันออกไกลประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

https://thediplomat.com/2018/09/xi-is-attending-the-eastern-economic-forum-what-took-him-so-long/

http://thai.cri.cn/247/2018/09/12/226s271123.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/09/07/223s270894.htm 

http://www.xinhuanet.com/english/2018-09/11/c_137460703.htm

https://www.gettyimages.com/event/4th-eastern-economic-forum-775227028#/chinese-president-xi-jinping-speaks-during-the-4th-eastern-economic-picture-id1035878666