bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พ.ค.๖๔ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “การส่งเสริมความร่วมมือในทะเลจีนใต้และลัทธิพหุภาคีระดับภูมิภาค”

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พ.ค.๖๔ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “การส่งเสริมความร่วมมือในทะเลจีนใต้และลัทธิพหุภาคีระดับภูมิภาค” (“以区域多边主义推进南海合作”) โดย นายอู๋ ซื่อฉุน (吴士存) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทะเลจีนใต้ของจีนและประธานสภาศูนย์วิจัยทะเลจีนใต้ของจีน – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (中国南海研究院院长、中国-东南亚南海研究中心理事会主席) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
 
๑. ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีการแลกเปลี่ยนข้อหารือและเจรจาร่วมกันมาตลอดก็ตาม แต่มักประสบกับข้อเรียกร้องที่ให้ “ความร่วมมือในทะเลจีนใต้” (“合作的南海”) สอดคล้องกับผลประโยชน์และความต้องการของประเทศตนเป็นหลัก จนเกิดความขัดแย้งและเป็นแรงจูงใจที่ทำให้จีนกับประเทศในอาเซียนลงนามใน "ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้" (“南海各方行为宣言”) และเริ่มการปรึกษาหารือเกี่ยวกับ "แนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้" (“南海行为准则”)  ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้จะตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล อาทิ การอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือ แต่ก็อยู่ในสถานะ "กลไกที่ไม่มีการดำเนินการ" (“有机制、无行动”)
 
๒. ข้อเท็จจริงของปัญหาเรื่องนี้ เกิดจาก
     ๒.๑ มุมมองเชิงปฏิบัติการต่อความร่วมมือระหว่างประเทศชายฝั่งทะเลของทะเลจีนใต้ ที่สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ (๑) ฝ่ายที่มีข้อพิพาท เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน จะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนและข้อพิพาทจากการเรียกร้องโดยตรงผ่านการหารือทวิภาค (๒) ประเทศต่างๆ เช่น จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไนและอินโดนีเซีย มุ่งใช้ช่องทางทวิภาคีหรือพหุภาคีในการเจรจาและสร้างกลไกการจัดการวิกฤตเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางทะเลที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การควบคุมเกาะและแนวปะการัง เขตอำนาจศาลทางทะเลและการพัฒนาทรัพยากร (๓) การกำกับดูแลทางทะเลในภูมิภาคที่ดำเนินการโดยประเทศชายฝั่งทะเลจีนใต้ทั้งหมดในด้านต่างๆ เช่น การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล การอนุรักษ์ทรัพยากร รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล  
     ๒.๒ เหตุผลเบื้องหลังของ ๓ ระดับดังกล่าว คือ (๑) ประเทศผู้อ้างสิทธิ์บางประเทศไม่สนใจความร่วมมือพหุภาคีทางทะเลและขาดความร่วมมือร่วมกันจากปัญหาการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเพียงฝ่ายเดียว โดยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาทรัพยากรและเจตจำนงทางการเมือง (๒) ประเทศผู้อ้างสิทธิ์มุ่งความสำคัญและความเร่งด่วนของการรวมและขยายผลประโยชน์ที่จะได้รับผ่านการกระทำฝ่ายเดียวมากกว่าความต้องการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือ (๓) มีประเทศภายนอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งต่างละทิ้งนโยบายทะเลจีนใต้ที่เป็นกลาง โดยใช้วิธีการทางทหารและการทูตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือในทะเลจีนใต้ต้องหยุดชะงัก
 
๓. ข้อพิจารณา  นายอู๋ ซื่อฉุน เห็นว่า การสนับสนุนลัทธิพหุภาคีระดับภูมิภาคเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือพหุภาคีที่ยั่งยืนและจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่ำและสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่ทุกฝ่ายได้ จึงเป็นวิธีที่เป็นไปได้ในการแก้ไขสถานการณ์ที่ปั่นป่วนในทะเลจีนใต้ได้ โดยเรียกว่า “ลัทธิพหุภาคีระดับภูมิภาค” (“区域多边主义”) อันหมายความว่าประเทศชายฝั่งทะเลของทะเลจีนใต้ควรจัดตั้งชุดของการเตรียมการเชิงสถาบันที่มั่นคงยั่งยืนและมีประสิทธิผล เพื่อตอบสนองความต้องการความร่วมมือที่แตกต่างกันของ ๓ ระดับดังกล่าว ดังนั้น การสร้างกลไกการกำกับดูแลทะเลจีนใต้จากมุมมองของการออกแบบสถาบันเพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงจูงใจในหมู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาและจะนำไปสู่ข้อเสนอต่อวิธีการสร้างความร่วมมือในทะเลจีนใต้
 
๔. ข้อเสนอ วิธีการสร้างความร่วมมือในทะเลจีนใต้กระทำได้โดย
     ๔.๑ สร้างกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจทางทะเลสำหรับประเทศชายฝั่งทะเลของทะเลจีนใต้ เช่น การท่องเที่ยว
     ๔.๒ เรียนรู้แนวปฏิบัติระหว่างประเทศที่มีอยู่ในโลกและนำประสบการณ์การปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จของภูมิภาคอื่นๆ มาใช้
     ๔.๓  จัดตั้งกลไกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับภูมิภาค ที่มุ่งรักษาเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้และความปลอดภัยทางทะเล
 
บทสรุป  

ปัจจุบันสถานการณ์ในทะเลจีนใต้มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง ทำให้เสถียรภาพในระยะนี้ค่อนข้างเปราะบาง โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อขยายขอบเขตผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งความร่วมมือเพื่อป้องกันความไม่แน่นอน และความร่วมมือเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น จึงจะเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล  

https://mp.weixin.qq.com/s/PAMSOHLUmJBt_VZ3kV5Phg