ธนาคารพัฒนาแห่งชาติของทั้งสองประเทศ คือจีนและรัสเซียได้ลงนามในข้อตกลงกรอบการทำงานมากกว่า ๗๐ โครงการ อาทิโครงการ "เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ" หลังจากที่จีนประกาศเมื่อปลายปีที่แล้ว ถึงความพร้อมที่จะร่วมขยายพัฒนา “เส้นทางสายไหมขั้วโลก” (Polar Silk Road) สำหรับการเดินเรือพาณิชย์สายใหม่จากด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ผ่านขึ้นเหนือไปทางขั้วโลก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank หรือ CDB) ได้ตกลงที่จะให้เงินกู้แก่ธนาคาร Vnesheconombank (VEB) ของรัสเซียเพื่อการจัดหาเงินทุนภายใต้โครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EaEU หรือ EEU เป็นสหภาพเศรษฐกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาซึ่งลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค.๕๗ และมีผลในวันที่ ๑ ม.ค.๕๘ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด ๕ ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย โดยมีขนาดประชากรกว่า ๑๘๐ ล้านคน และผลิตภัณฑ์มวลรวม ๒.๘ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
๒. แนวคิดของจีนต่อความร่วมมือในโครงการ "เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ" กับรัสเซีย
๒.๑ การดำเนินโครงการ BRI ตามข้อเสนอของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ในปี ๒๐๑๓ (พ.ศ.๒๕๕๖) เพื่อเชื่อมโยงทางการค้าของจีนกับประเทศต่างๆ กว่า ๗๐ ประเทศ จากเอเชียไปยังยุโรปและแอฟริกา รวมทั้งสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ในการนี้ จีนได้เปิดตัวสายการบินตรงและการเชื่อมโยงทางรถไฟขนส่งสินค้า ไปยัง ๔๒ เมืองใน ๑๔ ประเทศในยุโรป โดยส่วนใหญ่จะผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และโปแลนด์ ไปยังปลายทางในยุโรปตะวันตกและใต้
๒.๒ เมื่อปีที่แล้ว จีนได้รวมเส้นทางทะเลอาร์กติกซึ่งเชื่อมโยงจีนกับยุโรป เข้าไว้ในโครงการ BRI เป็นเส้นทางสายไหมขั้วโลก โดยจะใช้ “เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ” ซึ่งเป็นช่องทางการจัดส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก ตามแนวชายฝั่งทางตอนเหนือของรัสเซีย โดยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดเวลาในการขนส่งจากเซี่ยงไฮ้ไป รอตเตอร์ดัม เมืองท่าหลัก และเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเทียบกับการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกาและคลองสุเอซ ซึ่งเคยกินเวลาถึง ๔๘ วัน จะใช้เวลาลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจนเหลือเพียง ๒๐ วันเท่านั้น
๓. สำหรับแนวคิดของรัสเซีย ที่ให้ความสำคัญต่อเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือเช่นกัน โดยรัฐบาลรัสเซียได้ตั้งเป้าหมายในการรักษาอธิปไตยเหนือภูมิภาคอาร์กติก และได้เพิ่มขยายกองเรืออาร์กติก รวมทั้งมีการฟื้นฟูฐานทัพอากาศ การก่อตั้งกองพลน้อยอาร์กติกพิเศษขึ้นมาในกองทัพ และการส่งกำลังพลประจำอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ ของแถบอาร์กติก นอกจากนี้ บริษัทโนวาเทคของรัสเซียได้ร่วมมือกับบริษัท CNPC ของจีนในโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติบนคาบสมุทรยามาล ซึ่งตั้งอยู่ตามเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ ตลอดจนการเพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้าในภูมิภาค อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ที่นำเสนอโดยประธานาธิบดี วลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการบูรณาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างรัฐต่างๆ ภายในยูเรเซียมากขึ้น และปูทางไปสู่การบูรณาการทางการเมืองในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อรัสเซีย
บทสรุป
จีนให้ความสนใจที่จะพัฒนาเส้นทางทะเลสายใหม่ ภายใต้เส้นทางสายไหมขั้วโลก "Polar Silk Road" โดยหวังที่จะแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจครอบคลุมอาร์กติก ด้วยการเปิดเส้นการค้าทางเรือ และจัดสรรทรัพยากรในมหาสมุทรอาร์กติก ตามแนวคิดที่จะเชื่อมโยงเข้ากับโครงการริเริ่มโครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ในขณะที่มหาสมุทรอาร์กติกเป็นมหาสมุทรเล็กที่สุดและตื้นที่สุดในบรรดามหาสมุทรทั้ง ๕ แห่งของโลก แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของโลก อันจะทำให้จีนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติแถบอาร์กติก เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการทำประมง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมหาสมุทรอาร์กติกมีค่าความเค็มน้ำทะเลต่ำที่สุด และสามารถเป็นเส้นทางสู่ทวีปยุโรปที่ใช้เวลาในการเดินทางลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากเดิม
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://mgronline.com/china/detail/9610000059137
https://www.cnbc.com/2018/02/14/china-we-are-a-near-arctic-state-and-we-want-a-polar-silk-road.html
https://www.eurasiareview.com/14022018-china-eyes-arctic-for-polar-silk-road-analysis/
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=682740221901118&id=118899624951850
http://www.bbc.com/thai/international-42843073
http://www.thaibizrussia.com/ru/eurasian/