bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มี.ค.๖๒ : ความเคลื่อนไหวในการประชุมสองสภา (ตอนที่ ๑๕)

ความเคลื่อนไหวในการประชุมสองสภา (ตอนที่ ๑๕) ว่าด้วยข้อคิดเห็นของบุคคลสำคัญ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๔ มี.ค.๖๒ เว็บไซต์ของสำนักข่าว CRI สื่อของจีน ได้นำเสนออคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสองสภาของ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไทย ว่า
        ๑.๑ ถือเป็นการประชุมสำคัญอีกครั้งหนึ่งต่อจากการประชุมที่สำคัญมากเมื่อปีที่แล้ว และเมื่อปีที่แล้วก็เห็นว่าหลังการประชุมได้มีความเปลี่ยนแปลงหรือได้มีการเอาอะไรใส่ลงไปในธรรมนูญของพรรค จนชัดเจนมากขึ้น ซึ่งครั้งนี้ก็รอดูอยู่ว่า จะมีผลจากการประชุมและสิ่งที่จีนได้ประกาศคืออะไร และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เมื่อปีที่แล้วได้เรื่องของ One Belt, One Road มา ได้เรื่องของนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เอาไปใส่ในธรรมนูญ ได้เรื่องนโยบายการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเวลานี้คนทั่วโลกกำลังจับตาดูเรื่องของ สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน สำหรับเรื่องผลการประชุมสภาที่มีกันอยู่ในขณะนี้ ต้องดูว่าผลหลังจากนี้รัฐบาลจีนจะเดินหน้าไปอย่างไร ซึ่งผลจากการประชุมจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลจีน และจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
        ๑.๒ สำหรับเรื่องที่การประชุมสองสภาจีนปีนี้ ได้ส่งสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีบทบาท ดังนั้น GDP จีน มีผลต่อเอเชีย และก็ต่อโลก อย่างน้อยก็เป็น (Balance of power) การสร้างสมดุลในทางเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดู คนที่ทำธุรกิจ คนที่อยู่ในรัฐบาลจะต้องจับตาดูสิ่งนี้ว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไร เช่นเดียวกับเรื่องสงครามการค้า (trade war) ที่เกิด ทุกคนต้องจับตาดู และดีใจเพราะเวลานี้ มันทำท่าว่าไปในทางที่ดีขึ้นกว่าที่คิดมาก และหวังว่าจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เพราะว่าจะส่งผลกระทบไม่ใช่ต่อประเทศทั้งสองที่เป็นคู่กรณี แต่มันกระทบต่อประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยด้วย

๒. ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๑ มี.ค.๖๒ เว็บไซต์ของสำนักข่าว CRI สื่อของจีน ได้นำเสนออคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสองสภาของ นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า
        ๒.๑ การประชุมดังกล่าวได้ให้ความสำคัญต่อการอภิปรายการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะนี้ เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นขั้นตอนเศรษฐกิจใหม่ ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
        ๒.๒ การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของจีนได้สร้างคุณูปการต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกด้านต่าง ๆ จีนเป็นคู่ค้าอันดับแรกของประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับแรกของหลายประเทศ ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเศรษฐกิจจีนเป็นผลดีต่อทั่วโลก ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ มีแผนการติดต่อและเชื่อมกันซึ่งกันและกัน โดยมีแผนที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงถนน สะพาน และสนามบิน ซึ่งหากมองในมุมมหภาค ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ได้มอบเงินทุนให้กับอาเซียน เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน โดยอาเซียนและจีนต่างเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ดังนั้น ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จึงเป็นการแสดงบทบาทที่สำคัญในด้านการส่งเสริมการติดต่อและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกต่าง ๆ ในอาเซียน

๓. ข้อสังเกต ปัจจุบันจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลก เป็นประเทศการค้าสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นประเทศการค้าด้านบริการขนาดใหญ่อันดับ ๒ ของโลกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการที่เปิดกว้างและมีความโปร่งใส รวมทั้งเชื่อมโยงกับกฎเกณฑ์ทางสากล เช่น การบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ รวมถึงการปฏิบัติต่อวิสาหกิจทั้งทุนจีนและทุนต่างชาติ ที่ต้องเป็นไปโดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นต้น

บทสรุป

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากการประชุมสองสภาจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลจีนแล้ว ยังจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย เนื่องจากมีสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่จะชะลอตัว ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน หรือ GDP ย่อมมีผลต่อเอเชีย และต่อโลก ในขณะที่จีนกำลังส่งเสริมการปฏิรูปสู่ทิศทางที่เปิดกว้างและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายใต้กรอบโครงการความริเริ่ม หรือ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI หรือ One Belt, One Road : OBOR) ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการติดต่อและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ จากการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในระดับภูมิภาคและโลก โดยจะทำให้จีนสามารถเชื่อมโยง ๓ ทวีป (เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา) รวมทั้งการเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย อันจะทำให้จีนสามารถลดข้อจำกัดจากสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศจีนที่มีทางออกทะเลโดยตรงเพียงด้านเดียว

ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://thai.cri.cn/20190314/d5d0bbe7-eefc-21ce-73f7-746c16e4c195.html 

http://thai.cri.cn/20190311/83633bbd-d463-9069-883d-c675928b27fa.html 

http://thai.cri.cn/20190307/437f8a0a-1a4d-9a8c-dcc4-269393af7e9d.html 

http://thai.cri.cn/20190309/4dd23ac0-2f0f-fca2-89d2-6d923baa5865.html