bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ส.ค.๖๒ ความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนกับการผลักดันความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การจัดนิทรรศการท่องเที่ยวในงานมหกรรมจีน-อาเซียน ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ของจีน ในระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ต.ค.๖๒ เป็นผลสืบเนื่องมาจากในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างจีนและอาเซียนมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศในกลุ่มอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน สถิติจากทางการจีนระบุว่า ในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) จีนและอาเซียนมีนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างกันมากกว่า ๕๗ ล้านคน โดยแต่ละสัปดาห์มีเที่ยวบินไปกลับระหว่างกันราว ๔,๐๐๐ เที่ยวบิน ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังอาเซียนมากที่สุด นอกจากนี้ ในการจัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ๑๐ แห่งในต่างประเทศของชาวจีน เมื่อปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) พบว่า มีจำนวนถึง ๗ แห่งอยู่ในอาเซียน

๒. ก่อนหน้านั้น จีนจะมีจัดงานมหกรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ ๑๖ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๓ ก.ย.๖๒ ขึ้นที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายหวง ซีเหลียน เอกอัครราชทูตจีนประจำอาเซียนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า งานมหกรรมอาเซียนในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ร่วมสร้างหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ร่วมสร้างอนาคตแห่งความร่วมมือ” ซึ่งจะเป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปี สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน โดยหวังว่างานในครั้งนี้จะแสดงบทบาทเป็นเวทีการหารือระหว่างผู้นำระดับสูงและความร่วมมือทางการค้าให้ดีกว่าเดิม ผลักดันความร่วมมืออย่างจริงจังภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งได้สร้างคุณูปการแก่การพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน

๓. ข้อสังเกตต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียน ดังกรณีเมื่อวันที่ ๓๑ ก.ค.๖๒ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ บรรลุความรับรู้ร่วมกันทางเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง และวัฒนธรรม ฯลฯ ที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยต่างเห็นพ้องกันถึงการประสานข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เข้ากับ แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ๒๐๒๕ และพร้อมจะดำเนินการเจรจาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ตลอดจนจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.๖๒ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการอัดฉีดพลังใหม่ให้กับการเชื่อมโยงระหว่างจีน-อาเซียนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะความคืบหน้าในการร่างกฎเกณฑ์ในภูมิภาค ที่ฝ่ายต่างๆ ร่วมกันประกาศว่า ได้ตรวจสอบร่างเอกสาร “เกณฑ์ปฏิบัติในทะเลจีนใต้” รอบแรกก่อนกำหนด อันสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของจีนและอาเซียนในด้านการร่วมกันพิทักษ์สันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้

บทสรุป
อาจกล่าวได้ว่า ความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะผลสำเร็จจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ ๓๑ ก.ค.๖๒ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการประกาศร่วมกันในการสร้างจุดเด่นแห่งความร่วมมือ ในการกำหนดให้ปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) เป็นปีแห่งความร่วมมือเศรษฐกิจดีจิดัลจีน-อาเซียน ขยายความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ส การประดิษฐ์คิดสร้างทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เครือข่าย 5G และเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนร่วมกันรักษาลิทธิหลายฝ่าย (ลัทธิพหุภาคี) ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของจีนและอาเซียน นอกจากนี้ ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกของปีนี้ ยอดการค้านำเข้าส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง ๒๙๑,๘๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ๔.๒% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ ๑ ของอาเซียนติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ในขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ ๒ ของจีน และอาเซียนกลายเป็นเขตสำคัญของการลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
https://www.matta.org.my/event/07119-invitation-to-participate-in-2019-china-asean-expo-tourism-exhibition  
http://thai.cri.cn/20190816/41715b45-38da-a4e6-a0de-7c63e8e9bd4d.html 
http://thai.cri.cn/20190811/571ee822-68e8-d096-7fbc-fa679884804d.html 
http://thai.cri.cn/20190802/a821423a-7b1b-9b14-b1ad-5a322dcd3ca8.html 
http://thai.cri.cn/20190801/4cfe3609-9714-f332-3fd0-a125772ad290.html 
http://thai.cri.cn/20190801/2c84b102-305e-2e95-2f91-54f2f208613a.html 
http://thai.cri.cn/20190801/e75acc5c-cf46-34db-ff88-fe2ed7ab6637.html 
https://english.kyodonews.net/news/2019/08/a595858c0b1b-focus-china-rises-to-become-aseans-most-important-dialogue-partner.html