ความเคลื่อนไหวของพ่อแม่จีนในยุคปัจจุบันที่มีความมั่งคั่ง และปรารถนาจะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ แต่ยังลังเลกับปัจจัยจ่ายค่าเล่าเรียนที่แพงในจีน ทำให้หลายคนหันมาเลือกโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยแทน โดยกระแสฯ นี้ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นของไทยเกิดความคึกคัก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. การศึกษาของลูกและช่องทางในการลงทุนของพ่อแม่ กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของกลุ่มพ่อแม่จีน โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนที่แพงของโรงเรียนนานาชาติในท้องถิ่นของจีน รวมทั้งระบบการเรียนการสอนแบบท่องจำในโรงเรียนรัฐ ทำให้กลุ่มพ่อแม่จีนมองมาที่ประเทศไทย และได้เลือกสรรโรงเรียนนานาชาติให้ลูกๆ พร้อมกับมองหาช่องทางลงทุนในประเทศไทย ซึ่งได้กลายเป็นเป้าหมายปลายทางการลงทุนแห่งใหม่ของชาวจีน ต่อจากเป้าหมายการลงทุนเก่าแก่อย่าง สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบเรื่องที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กว่าและค่าใช่จ่ายที่ถูกกว่า
๑.๑ นาง เบกกี้ หวัง คุณแม่ผู้มีลูกสาววัย ๑๐ ขวบ และลูกชายวัย ๖ ขวบ ได้ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีค่าเล่าเรียนในหนึ่งปี ต่ำกว่า ๖๐,๐๐๐ หยวน หรือกว่า ๓ แสนบาท คิดเป็น ๑ ใน ๔ ของค่าเล่าเรียนของโรงเรียนสองภาษาในกรุงปักกิ่ง ที่มีค่าใช้จ่ายปีละ ๒๔๐,๐๐๐ หยวน หรือราว ๑.๒ ล้านบาท
๑.๒ จากข้อมูลของ International Schools Database ระบุว่าค่าเล่าเรียนของโรงเรียนนานาชาติที่มหานครเซี่ยงไฮ้ เท่ากับ ๒,๗๔๔ ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือกว่า ๙๑,๕๐๐ บาท จัดได้ว่าแพงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน
๒. ปัจจัยทางด้านราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ เรียลเอสเตทระหว่างประเทศ Juwai.com ระบุปริมาณการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาฯไทยช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีจำนวนมากทะลุปริมาณการสอบถามตลอดทั้งปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) ซึ่งประเทศไทยได้กลายเป็นเป้าหมายปลายทางอันดับหนึ่งของกลุ่มผู้ซื้อชาวจีน โดยขยับขึ้นจากอันดับที่สามของปีก่อนหน้านี้
๒.๑ คริส เติ้ง นักธุรกิจจากนครหนานจิง (นานกิง) มณฑลเจียงซูทางภาคตะวันออกจีน ซึ่งบินไปบินมาระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาบ่อยครั้ง ได้ซื้ออพาร์ทเมนท์ขนาด ๓๕ ตารางเมตร ที่มีทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ในราคา ๑.๓ ล้านหยวน หรือกว่า ๖ ล้านบาท โดยกำลังพิจารณาที่จะมาลงทุนในประเทศไทย และมีแผนย้ายลูกสาวมาเรียนที่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาในไทยด้วย เนื่องจากสามารถหาเช่าบ้านพักในกรุงเทพฯ ราคาเดือนละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ หยวน ในขณะที่บ้านในนครหนานจิง ขนาด ๑๐๐ ตารางเมตร มีมูลค่าสูงถึง ๕.๖ ล้านหยวน
๒.๒ เจนิเฟอร์ อู๋ วัย ๒๕ ปี จากมหานครฉงชิ่ง หันมาลงทุนที่กรุงเทพฯ ด้วยผลตอบแทนประจำปีเกือบ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ได้กลายเป็นแรงดึงดูดให้อู๋ได้ซื้ออพาร์ทเมนท์ ขนาด ๒๘ ตารางเมตร ในราคา ๕๖๖,๐๐๐ หยวน โดยซื้อขายผ่าน Uoolo ซึ่งเป็นแอพที่ช่วยชาวจีนซื้ออสังหาฯในต่างประเทศ นอกจากนี้ อู๋ยังได้ยินว่ามหาวิทยาลัยต่างๆในไทย คุณภาพดี ทำให้อาจตัดสินใจส่งลูกๆ มาเรียนที่นี่ในอนาคต
บทสรุป
เหอ ลี่เฟิง ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนา (NDRC) ของจีนเห็นว่า การปฏิรูปเศรรษฐกิจของจีน ๔๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลก โดยประชากรกลุ่มหนึ่งมั่งคั่งขึ้น และในกลุ่มประชากรทั้งหมด ๑.๔ พันล้านคน มีประชากรมากกว่า ๔๐๐ ล้านคน เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง โดยได้ถูกจัดเข้ามาอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง และตัวเลขนี้กำลังเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการศึกษาเป็นปัจจัยประกอบร่วมที่ผลักดันนักลงทุนจีนให้ออกไปลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ด้วยความวิตกว่าความมั่งคั่งในจีนจะหดตัวลงจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะจากปัจจัยการลดค่าเงินหยวน และภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิบ เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบจากที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ใกล้กว่าและค่าใช่จ่ายที่ถูกกว่า จึงได้กลายเป็นเป้าหมายปลายทางการลงทุนแห่งใหม่ของชาวจีน ต่อจากเป้าหมายการลงทุนเก่าแก่อย่าง สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย จึงเกิดการขยายตัวของชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว เช่น บริเวณถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ เขตห้วยขวาง ที่กำลังกลายเป็น "นิว ไชน่าทาวน์" (New Chinatown) แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://www.gmlive.com/chinese-buy-thai-real-estate-to-avoid-high-education-fee
https://mgronline.com/china/detail/9610000082178
https://www.posttoday.com/social/local/449346
http://www.realist.co.th/blog/the-new-china-town/
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/707366