bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒ มิ.ย.๖๒ ขอนำเสนอกรอบแนวคิดของข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" หรือ Belt and Road Initiative หรือ BRI ตอนที่ ๕

ประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้

๑. ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการผลักดัน "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน”ของจีน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมิ่งล่า เพื่อเชื่อมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ จะส่งผลต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ กล่าวคือ
๑.๑ เส้นทางการเชื่อมโยง ทำให้จีนมีเส้นทางการเชื่อมโยงสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอเหมิ่งล่า ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน หากเดินทางด้วยรถยนต์โดยใช้เส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพ (R3A) จะต้องเดินทางออกจากจีนที่ด่านบ่อหานของอำเภอเหมิ่งล่า ผ่านด่านบ่อเต็นของลาว และออกจากด่านห้วยทรายของลาว เข้าด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทาง ๒๕๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง ๔-๕ ชั่วโมง หรือหากขนส่งสินค้าทางน้ำออกจากอำเภอเหมิ่งล่าที่ด่านกวนเหล่ย ล่องไปตามแม่น้ำโขง ถึงด่านเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ ๓๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๑-๓ วัน ถือเป็นเส้นทางจากด่านชายแดนจีนถึงด่านชายแดนไทยที่สั้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบกหรือทางน้ำ
๑.๒ การค้าการลงทุน โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน”ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายบนสองปลายทางของเส้นทาง R3A ทั้งในอุตสาหกรรมที่ไทยชำนาญ เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมที่จีนถนัด เช่น คมนาคมและโลจิสติกส์ ก็น่าจะทำให้ถนนเส้นดังกล่าวเกิดความสมดุล และ “เกื้อกูลซึ่งกันและกัน” ได้ แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็อาจ “ชิงความได้เปรียบ” โดยร่วมมือกับประเทศลาวเตรียมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อยกระดับให้กลายเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อหาน (จีน) -บ่อเต็น(ลาว)” และตั้งเป้าไว้ว่าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ น่าจะได้รับการก่อสร้างเสร็จในอีก ๕ ปีข้างหน้า ซึ่งก็น่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากเมืองคาสิโนที่ถูกปิดไปในฝั่งบ่อเต็น ปัจจุบันได้กลับกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นที่มีนายทุนจากจีนได้รับสัมปทาน เพื่อใช้พื้นที่ร่วมกันดังกล่าวเตรียมรองรับการขยายตลาดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
๑.๓ การพัฒนาอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า จะเน้นพัฒนา ๔ อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ (๑) การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมการเกษตรโดยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรดั้งเดิม เช่น ธัญพืช ยางพารา ใบชา และอ้อย ฯลฯ สร้างความแข็งแกร่งต่ออุตสาหกรรมเกษตรใหม่ที่โดดเด่น เช่น ยาสมุนไพรไทลื้อ ดาวอินคา แมคคาเดเมีย และวัสดุไม้ ฯลฯ สนับสนุนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอันทันสมัยและพัฒนาการแปรรูปเชิงลึก (๒) การพัฒนาด้านการแปรรูปเพื่อการส่งออก โดย พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น ยางพาราและใบชา แร่ การแปรรูปไม้ อุปกรณ์เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ฯลฯ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ข้าว ข้าวโพด ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์และสัตว์น้ำ ฯลฯ (๓) การพัฒนาด้านการค้าและโลจิสติกส์ โดยสร้างตลาดและศูนย์ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ เช่น สินค้าเกษตร วัสดุไม้ ผลิตภัณฑ์แร่ อุปกรณ์เครื่องจักรกล ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ และของที่ระลึก ฯลฯ สร้างศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัยเพื่อเชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวเส้นทางจิ่งหง-บ่อหาน-หลวงน้ำทา-เชียงใหม่-กรุงเทพ และเส้นทางคุนหมิง-บ่อหาน-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ฯลฯ (๔) การพัฒนาด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดย ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวนานาชาติ อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวจิ่งหง (เชียงรุ้ง) –หลวงพระบาง-เชียงใหม่-เชียงตุง ฯลฯ ทำให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าและเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่กลายเป็นแหล่งนัดพบและจุดพักสินค้าที่สำคัญระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒. ข้อสังเกต พื้นที่ทดลองเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมิ่งล่า (ขนาดพื้นที่ ๔,๐๐๐ ตร.กม.) โดยแบ่งเป็นพื้นที่ร่วมพัฒนาจีน-ลาว มีขนาดพื้นที่ในฝั่งจีน ๔.๘๓ ตร.กม. และในฝั่งลาว ๑๖.๔ ตร.กม. สำหรับในอนาคตฝั่งจีนจะขยายเพิ่มเป็น ๓๕ ตร.กม. ในปี พ.ศ.๒๕๗๓ ทั้งนี้ ปัจจุบันกำลังสร้างเป็นเขตทัณฑ์บนภาษีและปลอดภาษีแล้ว โดยจะเสร็จสมบูณ์ในอีก ๓ - ๕ ปี นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าและกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดภายในประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจเหมิ่งล่า ที่มีปริมาณสินค้าจากไทยและลาว ผ่านเข้ามาปีละประมาณ ๔ ล้านตัน สินค้าไทยส่วนใหญ่ ได้แก่ หมอนยางพารา มาม่า และเครื่องสำอางค์ เป็นต้น

๓. ข้อเสนอ นับเป็นโอกาสดีของประเทศไทย หากสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่าของจีน กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงรายของไทย โดยเฉพาะบนสองปลายทางของเส้นทาง R3A จะทำให้ถนนเส้นนี้ เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ทั้งไทยและจีนก็ควรคำนึงถึงความสมดุลจากการพัฒนาเพื่อการได้รับผลประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งไทยและจีน เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีทักษะความชำนาญ และในด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ ซึ่งจีนมีทักษะความชำนาญ เป็นต้น

บทสรุป เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ตั้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าวในข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอเหมิ่งล่า (บ่อหาน) ในพื้นที่สิบสองปันนา ที่อยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนาน จะก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าในพื้นที่เชื่อมต่อทั้งในจีน ลาว และไทย อย่างมาก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการป้องกันกันและปราบปรามยาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ ต่อไป

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก

เว็บไซต์ของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ http://www.cmchamber.com/%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99/

เอกสารของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน),(๒๕๕๘). พลวัตรของจีนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและนัยต่อประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทสหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับบิสซิ่ง จำกัด