bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา (วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ต.ค.๖๒) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทยกับจีน ตอนที่ ๑ พัฒนาการของความร่วมมือ

ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. พัฒนาการของความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับจีนได้มีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือกันในศตวรรษที่ ๒๑ (Joint Statement of the Kingdom of Thailand and the People’s Republic of China on a Plan of Action for 21st Century) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ ๕ ก.พ.๔๒ ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งสาระของแถลงการณ์ร่วมฯ เน้นถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยเฉพาะความร่วมมือทางการทหาร จากข้อความที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ร่วมฯ ข้อที่ ๔ มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า จีนและไทยตกลงกันที่จะกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยอาศัยมาตรการเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานศึกษาวิจัยด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง ส่งเสริมให้ฝ่ายทหารกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศปรึกษาหารือกันมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างทหารของทั้งสองฝ่ายในการช่วยเหลือและกู้ภัยเพื่อนมนุษย์ การลดโอกาสของภัยพิบัติ การแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการทหาร รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านต่าง ๆ

๒. การประชุมร่วมทางการทหารระหว่างไทยกับจีน โดยพลเอก สุง กวงไค รองประธานกรมเสนาธิการใหญ่ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (ในขณะเวลานั้น) เดินทางมาเป็นประธานร่วมกับปลัดกระทรวงกลาโหมของไทยที่กรุงเทพฯ ในการประชุมระดับนโยบายเพื่อการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับกระทรวงกลาโหมของจีน ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓ ธ.ค.๔๔ ณ ห้องภาณุรังษี ศาลาว่าการกลาโหม ซึ่งทั้งสองประเทศได้ย้ำเจตนารมณ์อย่างชัดเจนที่จะให้ความร่วมมือกันแบบ “การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”(Strategic Partnership) โดยผ่านการดำเนินกิจกรรมระหว่างกัน และผลัดกันเป็นเจ้าภาพการประชุมปีละหนึ่งครั้ง เพื่อการประสานความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การศึกษา การส่งกำลังบำรุง การอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การฝึก การแลกเปลี่ยนข่าวกรองและการปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงครามในการช่วยเหลือกู้ภัยพิบัติ เป็นต้น

๓. การประชุมร่วมทางการทหารระหว่างไทยกับจีนครั้งล่าสุด เป็นการประชุมคณะกรรมการนโยบายดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ ๑๐ ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ มิ.ย.๕๗ ซึ่งฝ่ายจีนมี พลโท หวัง ก่วนจง รองประธานกรมเสนาธิการใหญ่ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (ในขณะเวลานั้น) เป็นประธานร่วม โดยผลการประชุมฯ มีสาระสำคัญได้แก่
        ๓.๑ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค โดยฝ่ายจีนได้ชี้แจงจุดยืนต่อกรณีทะเลจีนใต้ ซึ่งฝ่ายไทยเน้นย้ำว่าปัญหาในทะเลจีนใต้ควรได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี โดยการเจรจาฉันมิตรและยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นร่วมกันว่าควรมีการสถาปนาช่องทางการติดต่อสื่อสาร และขยายความร่วมมือทางทหารระหว่างกันให้มากขึ้น
        ๓.๒ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเป็นหลักประกันว่าความสัมพันธ์ทางทหารของสองประเทศจะยั่งยืน ต่อเนื่อง และแน่นแฟ้นตลอดไป

บทสรุป
แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือในศตวรรษที่ ๒๑ ที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนได้ลงนามเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ โดยเน้นถึงความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ได้นำไปสู่ความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทยกับจีน โดยมีการประชุมร่วมตามแผนงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับกระทรวงกลาโหมของจีนจำนวน ๑๐ ครั้ง เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ ณ กรุงเทพฯ และครั้งที่ ๑๐ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งความร่วมมือกันทางการทหารดังกล่าวเป็นความร่วมมือทั้งในระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติ โดยมีรูปแบบความร่วมมือทางการทหาร ๖ รูปแบบ ได้แก่
(๑) การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนในระดับผู้นำกองทัพและผู้นำหน่วยในระดับต่างๆ
(๒) การแลกเปลี่ยนทางการศึกษา
(๓) การฝึกร่วมทางการทหาร
(๔) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วม
(๕) การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ
(๖) การประสานงานผ่านทางช่องทางการทูตโดยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจาก
(๑) ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เรื่อง “ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: ศึกษาเฉพาะกรณีความร่วมมือทางการทหาร” โดย ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล, พันเอก (ยศในขณะนั้น)
(๒) Press Release เรื่อง “การประชุมคณะกรรมการนโยบายดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคง ระหว่าง กระทรวงกลาโหมไทย - กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ ๑๐” ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
(๓) หนังสือเรื่อง “ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยกับจีน” โดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๕๗