bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ก.ค.๖๒ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน โดยการขยายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างเส้นทางบกและเส้นทางทะเลเพื่อขยายระบบโลจิสติกส์

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๑๗ ก.ค.๖๒ ได้มีการจัดฟอรั่มวัฒนธรรมชนเผ่าจีน - อาเซียนครั้งที่ ๔ ขึ้นที่เมืองกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi Zhuang Autonomous Region) หรือเขตกวางสี ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและการพัฒนาร่วมกันของวัฒนธรรมจีน – อาเซียน” ซึ่งฟอรั่มนี้ได้ดึงดูด ๑๕๐ ประเทศรวมถึงจีน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย บรูไน อินเดียและญี่ปุ่น นักวิชาการและแขกจำนวนมากเข้าร่วม โดยนายหลิว อวิ๋นจง นักวิชาการจากศูนย์วิจัยการพัฒนาจีนของคณะรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า "ควรขยายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน ขณะเดียวกันต้องเน้นการสร้างหนทางทางบกและทางทะเลเพื่อขยายระบบโลจิสติกส์ ซึ่งเขตกวางสีเป็นเขตที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ มีทรัพยากรทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ของตน มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการแลกเปลี่ยนกับประเทศอาเซียน ด้วยโอกาสใหม่จากการสร้างช่องทางใหม่ทางบกและทางทะเล และพร้อมไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างเขตกวางสีและอาเซียน ย่อมจะก่อให้เกิดความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

๒. แผนระยะ ๕ ปี ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีน ตั้งแต่ฉบับที่ ๑๐ – ๑๓ ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๐๑ – ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๔๔ – ๒๕๖๓) มุ่งใช้ศักยภาพของเขตกวางสี ซึ่งอยู่ระหว่างมณฑลยูนนานด่านหน้าในการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้นครหนานหนิงซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตกวางสี เป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "ประตูสู่อาเซียน" โดยการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งทางบกให้เข้าถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน ผ่านแนวคิดการสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-กรุงเทพฯ” (Nanning-Bangkok Economic Corridor) รวมทั้งการจัดตั้ง “ระเบียงเศรษฐกิจหนานหนิง-สิงคโปร์” (Nanning-Singapore Economic Corridor) ตลอดจนโครงการก่อสร้างระบบการขนส่งต่อสินค้า (Transshipment Port System) และระบบการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้าประเภทน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่เหล็กนำเข้า รวมทั้งถ่านหินตามท่าเรือริมทะเลในเมืองต่าง ๆ เพื่อเชื่อมแนวพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ระหว่างเส้นทางสายไหมทางบกกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ด้วยอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้ง ในการพัฒนาบทบาทการเป็น "ข้อต่อ" ที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ในกรอบข้อริเริ่ม “แถบและเส้นทาง” หรือ BRI

๓. ภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “แถบและเส้นทาง” หรือ BRI ว่าด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน" (A proposal on developing a China-Indochina Peninsular Economic Corridor) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ ของระเบียงเศรษฐกิจตามข้อริเริ่มฯ โดยรัฐบาลระดับท้องถิ่นของเขตกวางสีมุ่งพัฒนาให้นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิง และเมืองเป๋ยไห่ เป็น "เขตพัฒนาเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้" (Guangxi Beibu Gulf Economic Zone: BGEZ) โดยเฉพาะการประกาศแผนงานเพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า กับกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการสร้าง “เขตธุรกิจระหว่างประเทศจีน-อาเซียน” (China-ASEAN International Business District) เช่น การจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ณ นครหนานหนิงเป็นประจำทุกปี รวมทั้งดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง “สถานีรถไฟหนานหนิงฝั่งตะวันออก” ตั้งอยู่ด้านเหนือของเขตเฟิ่งหลิ่ง มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สายนครหนานหนิง-เมืองหลิ่วโจว-เมืองกุ้ยหลิน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปถึงกรุงปักกิ่ง และการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งนครหนานหนิง (Nanning Bonded Logistic Center) ตลอดจนการสร้างเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนในเขตอ่าวเป่ยปู้ให้เป็นระบบโครงข่ายเชื่อมโยงกัน ผ่านความร่วมมือเมืองท่าจีน-อาเซียน' (China-ASEAN Port Cities Network) เพื่อกระชับความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนกับอาเซียน และในเวลาต่อมา เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวได้รับการกำหนดให้เป็นโครงการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Maritime Cooperation Fund)

๔. การใช้เมืองริมชายฝั่งทะเลและเมืองด่านชายแดนเป็นจุดเชื่อมต่อ ผ่านศูนย์โลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนแห่งนครหนานหนิงซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่าย เพื่อให้บริการด้านโลจิสติกส์คลังสินค้าทัณฑ์บนโดยตรงแก่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยนครหนานหนิงอาศัย ๓ เมืองชายฝั่งทะเล คือ เมืองเป๋ยไห่ เมืองชินโจว และเมืองฝางเฉิงก่าง กับเมืองด่านชายแดน คือ ด่านโหย่วอี้ เมืองผิงเสียง และด่านตงซิง นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลระดับท้องถิ่นของเขตกวางสี ได้ผลักดันให้เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City) เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางถนนสู่อาเซียน และเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญที่ติดต่อกับเวียดนาม อีกทั้งยังได้สนับสนุนโครงการความร่วมมือต้นแบบผ่านนิคมอุตสาหกรรมจีน-ไทยซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฉงจั่ว โดยมีบริษัทน้ำตาลมิตรผลของไทยได้ไปตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลอยู่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมุ่งหวังสู่การเป็นฐานการผลิตและแปรรูปน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน

บทสรุป
ในการประชุมสัมมนาว่าด้วยการสร้างสรรค์เขตกวางสีให้กลายเป็นเขตที่เปิดกว้างทางการเงินสู่อาเซียน เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ค.๖๒ โดยนายลู่ ซินเซ่อ เลขานุการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีกล่าวในที่ประชุมว่า การเร่งสร้างสรรค์เขตกวางสีให้เปิดกว้างทางการเงินสู่อาเซียนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยุทธศาสตร์การเปิดกว้างทางการเงินของจีนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ภายใต้กรอบข้อริเริ่ม “แถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือ BRI

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.bbrtv.com/2019/0719/486797.html

http://thai.cri.cn/20190718/ee7ff839-646d-307c-14bd-904d9712c9d5.html

http://thai.cri.cn/20190715/2628e1b7-268f-b989-b2e2-2dee4dafefde.html

http://thaingo.in.th/news/?p=content&act=detail&id_content=4481

http://thai.cri.cn/20190719/d01e3172-a04f-af84-b526-7316507cec38.html

http://thai.cri.cn/20180815/c0cda2d4-ca3c-4f37-9065-bbaf65e106f7.html

http://www.thaiembbeij.org/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=603&ID=17835

http://govt.chinadaily.com.cn/a/201906/17/WS5d06e3f5498e12256565dbb4.html