bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๓ ก.ย.๖๑ : ข้อคิดที่สำคัญจากการประชุม World Science Literacy

ข้อคิดที่สำคัญจากการประชุม World Science Literacy ที่ได้เรียกร้องให้มีการสร้างระบบการศึกษาสะเต็ม (STEM) ครบวงจร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ศาสตราจารย์หู่ เว่ยผิง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการหลักของ Modern Teaching Technology ที่มหาวิทยาลัยส่านซี นอร์มัล กล่าวในการประชุม World Science Literacy ซึ่งจัดที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙ ก.ย.๖๑ ว่า บริษัทและโรงเรียนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาด้าน STEM ซึ่งได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) โดยจำเป็นต้องได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการกำหนดนโยบายการปฏิรูปหลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนการสอน ถึงแม้ว่ากองทุนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติของประเทศจีน จะได้ให้เงินสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาตั้งแต่ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) แล้วก็ตาม แต่โครงการที่เกี่ยวกับศึกษาเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ยังไม่มีอยู่ในรายการ ซึ่งศาสตราจารย์หู่ เรียกร้องให้มีกองทุนเพื่อเริ่มต้นการทำงานในประเด็นนี้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้รับการสนับสนุนทำวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

๒. ศาสตราจารย์หู่ ยังได้กระตุ้นให้โรงเรียนเสริมเนื้อหา STEM เพิ่มเติมเข้าไปในหลักสูตรประจำวัน แทนที่จะเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร เนื่องจากกิจกรรมนอกหลักสูตรที่พบมากที่สุด เช่น การประกอบหุ่นยนต์ หรือการเข้าร่วมการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีการคิดหรือการออกแบบที่ลึกซึ้ง โดยจุดมุ่งหมายหลักของกิจกรรมของโรงเรียน ควรทำให้นักเรียนสามารถคิดได้ ไม่ใช่การทำผลิตภัณฑ์

๓. อุปสรรคในเรื่องการศึกษา STEM ของจีน ที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในปัญหาขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพ และการฝึกอบรมวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมให้กับครูที่มีอยู่ ซึ่งประมาณ ๘๐.๕ เปอร์เซ็นต์ของครูผู้สอนที่เกี่ยวข้องกับวิชา STEM ไม่ได้รับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง และหลายคนมีการศึกษาระดับกลางหรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น นอกจากนี้ นักการศึกษาชาวจีนควรหาแผนการวิธีการสอนและเป้าหมายที่ตอบสนองต่อระดับต่าง ๆ ควรมีการสอนทฤษฎีและการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ผ่านการบรรยายประจำวัน สร้างวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพฝึกให้นักเรียนคิดอย่างจริงจัง

๔. ข้อสังเกต ศาสตราจารย์เหริน โย่วชุน ศาสตราจารย์ด้านข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่า นอร์มัล กล่าวว่าการศึกษา STEM เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ในขณะที่สังคมมุ่งสู่อนาคตดิจิทัล โดยเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของจีน ควรรวมโครงการและความรู้ความเข้าใจหลายด้าน เข้าไว้ในตำราเรียนและนักเรียนควรปรับปรุงทักษะในการแก้ปัญหาและการทำงานเป็นทีม ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เหริน เสนอว่ากระบวนการเรียนรู้ควรได้รับการประเมินอย่างละเอียด และโรงเรียนควรเริ่มต้นการจัดตั้งห้องทดลองนวัตกรรม อำนวยความสะดวกในสภาพแวดล้อมการศึกษา ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การสอนทั้งแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์

บทสรุป

เป็นที่ยอมรับกันว่า สะเต็ม (STEM) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน ๔ สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง ๔ สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน การจัดการเรียนรู้แบบ STEM เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากว็บไซต์

http://www.chinadaily.com.cn/a/201809/20/WS5ba2e43da310c4cc775e72d1.html 

https://mgronline.com/china/detail/9610000094330 

http://www.stemedthailand.org/?page_id=23 

https://mc.ai/the-artificial-intelligence-race-is-china-in-the-lead/