มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. บทบาทของอาเซียนที่เด่นชัดคือ การมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในหมู่ประเทศสมาชิก ทั้ง ๑๐ ประเทศเพื่อนำไปสู่การสร้างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งขยายผลมาจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ ต.ค.๔๖ ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้นำอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) เห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ใน ๓ ด้านหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) และได้บรรลุผลสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
๒. วิสัยทัศน์หลักของอาเซียน ๒๐๒๕ คือ การปรับปรุงประชาคมอาเซียนให้มีบูรณาการในเชิงลึกมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในเชิงลึกและในเชิงกว้าง การทำให้อาเซียนเป็นประชาคม ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สำหรับในส่วนของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ดังนั้น บทบาทการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ จึงเน้นถึง Advancing Partnership for Sustainability หรือ "ร่วมมือร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ประการ ได้แก่
๒.๑ “การร่วมมือร่วมใจ (Partnership)” ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจาและประชาคมโลกโดยการเสริมสร้างความร่วมมืออาเซียนบวกหนึ่ง และโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยคำนึงถึงความสมดุลและประโยชน์ต่อประชาชน และเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนี้ ตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับอาเซียนคือการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การเชื่อมโยงประชาชน โดยเฉพาะในบริบทของปีวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๑๙ รวมถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN)
๒.๒ “การก้าวไกล (Advancing)” โดยให้อาเซียนมองและก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด และความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs เพื่อก้าวไปสู่ดิจิทัลอาเซียน (Digital ASEAN)
๒.๓ “ความยั่งยืน (Sustainability)” ในการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงที่ยั่งยืน ความยั่งยืนด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและมีนวัตกรรมจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้
๓. ข้อสังเกตต่อการขับเคลื่อนกลไกของประชาคมอาเซียน
๓.๑ ในด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค โดยเน้นการสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมร่วมกัน เช่น ธรรมาภิบาล การเคารพกฎหมายและหลักการสำคัญต่าง ๆ เช่น การแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่าง ๆ ร่วมกัน โดยไทยได้ให้ความสำคัญใน ๕ เรื่อง ได้แก่
(๑) การบริหารจัดการชายแดน
(๒) การเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล
(๓) การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
(๔) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน
(๕) การเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน
ในขณะที่ผู้นำอาเซียนคาดหวังในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ที่จะนำไปสู่การรับรอง ASEAN Indo-Pacific Outlook ซึ่งเป็นเอกสารที่นำเสนอโดยอินโดนีเซียตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้อาเซียนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียและและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่สหรัฐฯ และจีน กำลังแข่งขันกันสร้างอิทธิพลทั้งทางการเมือง การทหารและเศรษฐกิจ
๓.๒ ในด้านเศรษฐกิจ โดยไทยได้แสดงบทบาทร่วมกับอาเซียนในการผลักดันข้อเสนอเขตการค้าเสรี ๑๖ ประเทศ ภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้นำอาเซียน ๑๐ ประเทศต้องเร่งเจรจาความตกลง ที่มีอยู่ทั้งหมด ๒๐ บท (แม้ว่าเพิ่งจะผ่านการพิจารณาไปเพียง ๗ บทก็ตาม) เพื่อให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงการเป็นประธานอาเซียนของไทย
๓.๓ ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไทยได้แสดงบทบาทร่วมกับอาเซียนในการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทสรุป
อาเซียนได้แสดงบทบาทในการขับเคลื่อนกลไกของการเป็นประชาคมร่วมกัน ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์หลักของอาเซียน ๒๐๒๕ โดยเฉพาะบทบาทในการผลักดันมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้ เช่น ให้ทุกฝ่ายเคารพเสรีภาพในการเดินเรือและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี โดยคำนึงถึงความสำคัญของปฏิญญาทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) เป็นต้น รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันของอาเซียนต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค (ASEAN Indo-Pacific Outlook) ซึ่งเป็นประเด็นที่จีนให้ความสนใจและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของอาเซียนอย่างใกล้ชิด
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจาก
https://www.bbc.com/thai/48704042
https://mgronline.com/daily/detail/9620000058849
http://www.drprapat.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-2025/
https://www.asean2019.go.th/th/
https://www.asean2019.go.th/th/
https://www.asean2019.go.th/th/