bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิ.ย.๖๑ : ความก้าวหน้าของจีนด้านกิจการอวกาศ

ความก้าวหน้าของจีนด้านกิจการอวกาศในรอบ ๒ เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๒๑ มิ.ย.๖๑ นายเกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้กล่าวถึงการประชุมระดับสูงในโอกาสครบรอบการจัดประชุมว่าด้วยอวกาศครบ ๕๐ ปี ของสหประชาชาติ (United Nations Conference on the Exploration and Peaceful Uses of Outer Space) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ ๑๙ มิ.ย.๖๑ ว่า หลังจากที่ประชุมว่าด้วยอวกาศฯ ได้ผ่านเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างประชาคมในห้วงอวกาศเข้าไว้ในแนวคิดการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในการบริหารอวกาศ ตามแนวคิดของจีนในการขยายความร่วมมือในการบริหารห้วงอวกาศ และร่วมกันสร้างความผาสุกแก่มนุษยชาติทั้งมวล พร้อมทั้งได้เน้นว่า จีนยินดีที่จะร่วมมือกับต่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน

๒. ความก้าวหน้าของจีน ด้านกิจการอวกาศในรอบ ๒ เดือน ที่ผ่านมา
        ๒.๑ เมื่อวันที่ ๑๔ มิ.ย.๖๑ ดาวเทียม "เชวี่ยเฉียว" (Queqiao, Magpie Bridge) ซึ่งเป็นดาวเทียมติดตามและทวนสัญญาณสำหรับยานสำรวจดวงจันทร์ "ฉางเอ๋อ ๔" (Chang'e-4) ในโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน ได้เข้าสู่วงโคจรฮาโล (Halo) รอบจุด L2 ของระบบโลกและดวงจันทร์ ซึ่งห่างจากดวงจันทร์ราว ๖๕,๐๐๐ กิโลเมตร อย่างราบรื่น นับเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกที่โคจรอยู่ในวงโคจรดังกล่าว ดาวเทียม "เชวี่ยเฉียว" เป็นดาวเทียมติดตามและทวนสัญญาณ (TDRSS, Tracking and Data Relay Satellite System) ที่เชื่อมต่อโลกกับดวงจันทร์ดวงแรกของมนุษย์ โดยต่อจากนี้จะเป็นการทดสอบระบบต่างๆ ขณะโคจรอยู่ในวงโคจร เพื่อติดตามและส่งสัญญาณระหว่างพื้นโลกกับดวงจันทร์ให้แก่ยานสำรวจดวงจันทร์ "ฉางเอ๋อ ๔" ที่มีกำหนดจะส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปลายปีนี้ ทั้งนี้ จีนยินดีที่จะร่วมสำรวจ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากห้วงอาวกาศอย่างสันติกับทุกประเทศ
        ๒.๒ ย้อนไปเมื่อวันที่ ๑ พ.ค.๖๑ จีนเริ่มใช้ดาวเทียมเฟิงหยุน-๔ (Fengyun-4) ซึ่งสามารถส่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ในจีนและต่างประเทศ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน จีนได้ส่งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาเฟิงหยุนขึ้นสู่อวกาศแล้ว ๑๖ ดวง ในจำนวนนี้ มี ๙ ดวงกำลังทำงานอยู่ในวงโคจร องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกำหนดให้ดาวเทียมเฟิงหยุนเป็นหนึ่งในดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาระดับโลก กลายเป็นสมาชิกสำคัญของระบบอุปกรณ์สำรวจสภาพของโลก ในขณะเดียวกัน ยังเป็นดาวเทียมในกลไกเฝ้าระวังภัยพิบัติของโลกด้วย ซึ่งจะเสนอข้อมูลและผลิตภัณฑ์ให้กับ ๗๐ กว่าประเทศและภูมิภาค และผู้ใช้ ๒,๕๐๐ แห่งภายในประเทศ

บทสรุป

ความก้าวหน้าของจีนด้านกิจการอวกาศดังกล่าวได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ต่อนานาชาติ จากการที่ นายสื่อ จงจุ้น เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวสุนทรพจน์ เมื่อวันที่ ๒๘ พ.ค.๖๑ ที่กรุงเวียนนาของออสเตรีย ในพิธีแถลง "คำประกาศว่าด้วยโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้งานสถานีอวกาศของจีน" โดยเน้นว่า จีนยืนหยัดหลักการในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการวิจัยและการสำรวจอวกาศอย่างเปิดกว้าง เพื่อสร้างสันติภาพและชัยชนะร่วมกัน โดยยินดีต้อนรับฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมในการใช้งานสถานีอวกาศของจีน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า สถานีอวกาศของจีนจะเปิดให้ทุกประเทศ ทุกองค์กร และภาคเอกชน รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ได้มาศึกษาเรียนรู้ จัดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่สถานีอวกาศของจีนซึ่งจะสร้างเสร็จเรียบร้อย และเปิดใช้ในปี ค.ศ.๒๐๒๒ หรือปี พ.ศ.๒๕๖๕

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.unoosa.org/oosa/en/ourwork/unispaceplus50/index.html

http://thai.cri.cn/247/2018/06/22/64s268270.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/06/15/233s268059.htm

http://thai.cri.cn/247/2018/05/03/234s266807.htm

https://public.wmo.int/en/media/news-from-members/fengyun-4a-and-ground-application-system-are-officially-put-operation-china

http://www.ias4sure.com/wikiias/prelims/queqiao-magpie-bridge/

http://thai.cri.cn/247/2018/05/29/227s267558.htm

http://www.xinhuanet.com/english/2018-05/29/c_137213186.htm