จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เม.ย.๖๔ ขปาฐกถาพิเศษของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในพิธีเปิดการประชุมฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าว ประจำปี ๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) ในหัวข้อเรื่อง “ร่วมมือขจัดความยากลำบากในปัจจุบัน ร่วมกันสร้างอนาคตร่วมกัน” (“同舟共济克时艰,命运与共创未来”) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย.๖๔ (ตอนที่ ๒ - จบ) โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยกล่าวหลายครั้งว่า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路” หรือ “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” “Belt and Road Initiative” : BRI) เป็นหนทางอันกว้างใหญ่ที่เปี่ยมด้วยแสงแดดที่ผู้คนทั้งหลายจูงมือก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันได้ หาใช่ถนนส่วนบุคคลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประเทศที่มีความสนใจทุกประเทศล้วนเข้าร่วม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้ ร่วมกันมีส่วนร่วม ร่วมมือและได้ประโยชน์ร่วมกัน การร่วมกันสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” นั้นก็เพื่อแสวงหาการพัฒนา ส่งเสริมชัยชนะร่วมกัน และถ่ายทอดความหวัง
๒. มองไปในอนาคต จีนจะร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ดำเนินการสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ด้วยคุณภาพสูงต่อไป ปฏิบัติตามหลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน เชิดชูแนวคิดแห่งการเปิดกว้าง ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายที่มีมาตรฐานสูง อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและมีความยั่งยืน
๒.๑ จะสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนแห่งความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น วิสาหกิจจีนได้ดำเนินการร่วมผลิตวัคซีนในประเทศหุ้นส่วนที่ร่วมสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เช่น อินโดนีเซีย บราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ปากีสถาน และตุรกี เป็นต้น เราจะขยายความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ ด้านการป้องกันควบคุมโรคระบาด สาธารณสุข การแพทย์ และยารักษาโรคที่มีมาแต่ดั้งเดิม เป็นต้น ร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพของประชาชนประเทศต่าง ๆ
๒.๒ จะสร้างสรรค์ความสัมพันธ์หุ้นส่วนแห่งการเชื่อมโยงถึงกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น จีนจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเสริมสร้าง “การเชื่อมโยงแบบฮาร์ด” (“硬联通”) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน และ “การเชื่อมโยงแบบซอฟท์” (“软联通”) ด้านกฎระเบียบและมาตรฐาน ทำให้ช่องทางความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนมีความคล่องตัว ตลอดจนพัฒนาการค้าอิเล็กทรอนิกส์เส้นทางสายไหมอย่างแข็งขัน ร่วมกันบุกเบิกอนาคตอันรุ่งโรจน์แห่งการพัฒนาอย่างหลอมรวมกัน
๒.๓ จะสร้างสรรค์ความสัมพันธ์หุ้นส่วนแห่งการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น สร้างเสริมความร่วมมือด้านสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน พลังงาน การเงิน และอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแพลตฟอร์มแห่งความร่วมมือแบบพหุภาคีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น สหพันธ์นานาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่ง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” และหลักการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่ง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เป็นต้น ทำให้ความเป็นสีเขียวกลายเป็นสีพื้นฐานแห่งการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อย่างแท้จริง
๒.๔ จะสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนแห่งการเปิดกว้างและหลอมรวมกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
บทสรุป
มีรายงานที่เกี่ยวข้องของธนาคารโลกระบุว่า ภายใน ค.ศ.๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) การร่วมสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (“一带一路”) อาจช่วยเหลือประชากรโลก ๗.๖ ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจนระดับสูงสุด ส่วนอีก ๓๒ ล้านคนจะหลุดพ้นจากความยากจนระดับปานกลาง โดยจีนจะยึดมั่นเจตนารมณ์แห่งการเปิดกว้างและหลอมรวม ใช้ความพยายามร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ที่ยินดีเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้เป็น “หนทางแห่งการบรรเทาความยากจน” (“减贫之路”) และ “หนทางแห่งการเติบโต” (“增长之路”) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณูปการอย่างแข็งขันต่อการก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
http://www.xinhuanet.com/politics/2021-04/20/c_1127350811.htm