bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เม.ย.๖๓ กรณีที่จีนได้ผลักดันการตรวจสอบและพิจารณาเพิ่มการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งเสริมความแข็งแกร่งด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่จีนได้ผลักดันการตรวจสอบและพิจารณาเพิ่มการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งเสริมความแข็งแกร่งด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. นายเซิน ฉางอี่ว์ (申长雨  Shen Changyu) อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน ได้แถลงเมื่อวันที่ ๒๓ เม.ย.๖๓ ว่า เมื่อปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) จีนได้โอนสิทธิและอนุญาตให้ดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ๓๐๗,๐๐๐ ครั้ง ยอดการค้าจากข้อตกลงทางเทคโนโลยีที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญามีมูลค่า ๙๒๘,๖๙๐ ล้านหยวน พร้อมยังเร่งดำเนินโครงการในด้านนี้จำนวนมาก ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการพัฒนาลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น และความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากำลังเกิดรูปแบบใหม่ขึ้นในทั่วโลก

๒. อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน ได้กล่าวถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ของจีนเพื่อสร้างพลังอำนาจในทรัพย์สินทางปัญญา ปี ๒๐๒๑ – ๒๐๓๕ ให้จีนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจาก
     ๒.๑ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างมาก จากปี ๒๐๐๗ – ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๖๒) จำนวนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศจีน (ไม่รวมฮ่องกงมาเก๊าและไต้หวัน) เพิ่มขึ้นจาก ๘๔,๐๐๐ เป็น ๑.๘๖๒ ล้าน และจำนวนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นจาก ๒.๓๕๓ ล้านเป็น ๒๕.๒๑๙ ล้าน เป็นต้น
     ๒.๒ การใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้รับผลที่น่าทึ่งต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมที่ใช้สิทธิบัตรสูงถึง ๑๐.๗ ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น ๑๑.๖% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) บ็อกซ์ออฟฟิศรวมของภาพยนตร์ระดับชาติสูงถึง ๖๔.๓ พันล้านหยวน หรือเกือบ ๒๐ เท่าของปี ๒๐๐๗ (พ.ศ.๒๕๕๐) โดยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้นจาก ๘.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๐๐๗ (พ.ศ.๒๕๕๐) เป็น ๔๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ ๕ เท่า
     ๒.๓ การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีความเข้มแข็งอย่างมากและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศจีนได้จัดตั้งระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎระเบียบที่ยอมรับในระดับสากล
     ๒.๔ การตระหนักถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในสังคมได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นจาก ๓.๗% ในปี ๒๐๐๘ (พ.ศ.๒๕๕๑) เป็น ๘๖.๓% ในปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย
     ๒.๕ ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น ส่งผลต่ออิทธิพลระหว่างประเทศที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศจีนได้สร้างความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญากับประเทศและภูมิภาครวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า ๘๐ แห่งทั่วโลกและได้กลายเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมที่สำคัญในการกำหนดกฎสากลเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการปกครองระดับโลก เช่น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และองค์การการค้าโลก เพื่อเพิ่มการกระจายทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

๓. ข้อสังเกต ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ จีนได้ผลักดันให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบและพิจารณา โดยเพิ่มการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของวิสาหกิจจีนและต่างประเทศอย่างเสมอภาค ซึ่งในปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) พบว่า ในจำนวนผู้ขอลิขสิทธิ์นั้น เป็นวิสาหกิจมากถึง ๖๕% แสดงให้เห็นว่าการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญานั้น ได้พัฒนาการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ประยุกต์ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีที่แล้ว จีนได้มอบหมายลิขสิทธิ์ ๔.๕๓ แสนฉบับ บริษัทของจีน (ไม่รวมฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวัน) ซึ่ง ๓ อันดับแรก ที่ได้รับมอบหมายทางด้านลิขสิทธิ์คือ บริษัทเทคโนโลยีหัวเหวยจำกัด (๔,๕๑๐ ฉบับ) บริษัทหุ้นส่วนน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเคมีแห่งประเทศจีนจำกัด (๒,๘๘๓ ฉบับ) และบริษัทโทรคมนาคมกวางตุ้ง OPPO จำกัด (๒,๖๑๔ ฉบับ)

บทสรุป
 
นายเซิน ฉางอี่ว์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน ได้กล่าวถึงกรณีที่จีนได้ผลักดันการตรวจสอบและพิจารณา เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งเสริมความแข็งแกร่งด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศว่า ปัจจุบัน จีนสร้างความร่วมมือกับประเทศและภูมิภาครวมทั้งองค์การระหว่างประเทศกว่า ๘๐ แห่งทั่วโลก ทั้งนี้ จีนได้เป็นประเทศที่มีส่วนร่วมที่สำคัญในการกำหนดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และองค์การการค้าโลก นอกจากนี้ นายเซิน ฉางอี่ว์ ยังได้กล่าวเน้นย้ำว่า จีนให้ความสำคัญกับความร่วมมือตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์