bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธ.ค.๖๓ : ข้อคิดจากการประชุมว่าด้วยงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางของจีนในการวางแผนงานเศรษฐกิจปี ค.ศ.๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ ธ.ค.๖๓ ณ กรุงปักกิ่ง

ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดจากการประชุมว่าด้วยงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางของจีนในการวางแผนงานเศรษฐกิจปี ค.ศ.๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ ธ.ค.๖๓ ณ กรุงปักกิ่ง โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางของจีน กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในปี ค.ศ.๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในฐานะกรรมการประจำกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ กล่าวถึงการวางแผนงานเศรษฐกิจในปี ๒๐๒๑ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
 
 ๑. ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะห้าปี ฉบับที่ ๑๓ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนประสบผลสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์ เป้าหมายและภาระหน้าที่สำคัญตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓ ใกล้บรรลุผล พลังเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พลังรวมแห่งชาติ และระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนของจีนก้าวไปอีกระดับอีกครั้ง การสร้างสังคมพอกินพอใช้อย่างรอบด้านใกล้บรรลุชัยชนะ ขณะที่การฟื้นฟูอย่างยิ่งใหญ่ของประชาชาติจีนก้าวกระโดดไปข้างหน้าครั้งใหม่ ท่ามกลางปฏิบัติการแห่งการบูรณาการสถานการณ์ใหญ่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังบูรณาการการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยได้ลงลึกทำความเข้าใจกฎแห่งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจภายใต้ความท้าทายที่หนักหน่วง อันประกอบด้วย  
     ๑.๑ ประการแรก การดำรงไว้ซึ่งอำนาจแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ เป็นที่พึ่งพื้นฐานในการฝ่าความยากลำบากและก้าวไปข้างหน้าของทั้งพรรคฯ ชนเผ่า และประชาชนทั่วประเทศ  
      ๑.๒ ประการที่สอง “ประชาชนสำคัญที่สุด” เป็นเงื่อนไขบังคับในการเลือกทางเดินที่ถูกต้อง  
      ๑.๓ ประการที่สาม การยึดมั่นใน “สี่ความเชื่อมั่นในตัวเอง” (“四个自信”) ได้แก่ ความเชื่อมั่นในหนทางของตนเอง ความเชื่อมั่นในทฤษฎีของตนเอง ความเชื่อมั่นในระบบของตนเองและความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมของตนเอง จะนำมาซึ่งพลังอันแข็งแกร่งในการขจัดอุปสรรคและความยุ่งยาก รวมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาภารกิจต่าง ๆ  
     ๑.๔ ประการที่สี่ การวางนโยบายอย่างถูกหลักวิทยาศาสตร์และการรับมือเชิงสร้างสรรค์เป็นวิธีการพื้นฐานในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส  
     ๑.๕ ประการที่ห้า การพึ่งพาตัวเองและความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเสาหลักในการส่งเสริมการพัฒนา และการขับเคลื่อนในการสร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง
 
๒. การเปลี่ยนแปลงของโรคระบาดโควิด-๑๙ ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังคงหนักหน่วงและมีความสลับซับซ้อน จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความมั่นใจแห่งชัยชนะในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  โดยต้องบริหารจัดการเรื่องของตนเองให้ดี ยืนหยัดแนวคิดแห่งการกำหนดผลลัพธ์ขั้นต่ำที่ยอมรับได้ ยกระดับขีดความสามารถด้านการคาดการณ์และประเมินภัยอันตราย การป้องกันภัยอันตรายและความท้าทายประเภทต่าง ๆ อย่างรัดกุม ต้องชูธงแห่งลัทธิพหุภาคีต่อไป รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงและปฏิรูประบบบริหารจัดการของโลกอย่างแข็งขัน ตลอดจนขับเคลื่อนการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
 
๓. ปี ค.ศ.๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) เป็นปีที่มีความสำคัญพิเศษในกระบวนการสร้างสรรค์ความทันสมัยของจีน เพื่อดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในปีหน้าให้ดี โดยต้องยืนหยัดแนวคิดภาพรวมว่าด้วยการแสวงหาความก้าวหน้าท่ามกลางความมั่นคง  
     ๓.๑ ปฏิบัติตามแนวคิดใหม่แห่งการพัฒนาและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง โดยการลงลึกปฏิรูปโครงสร้างฝั่งอุปทานเป็นแนวทางหลัก ถือการปฏิรูปและการสร้างนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนพื้นฐาน  
     ๓.๒ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยบูรณาการการพัฒนากับความมั่นคงให้ดียิ่งขึ้น ดำเนินงาน “๖ เสถียรภาพ” ได้แก่ (๑) การจ้างงาน (๒) การเงิน (๓) การค้ากับต่างประเทศ (๔) การลงทุนจากต่างชาติ (๕) การลงทุนภายในประเทศ และ(๖) เสถียรภาพของเป้าหมายที่คาดการณ์ รวมทั้งปฏิบัติตามภารกิจ “๖ หลักประกัน” ได้แก่ (๑) การจ้างงาน (๒) การดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (๓) กลไกตลาด (๔) ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน (๕) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และ(๖) การดำเนินงานของหน่วยงานระดับพื้นฐาน  
     ๓.๓ ดำเนินนโยบายมหภาคอย่างตรงจุดและถูกหลักวิทยาศาสตร์ ใช้ความพยายามให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในขอบเขตที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ยืนหยัดยุทธศาสตร์แห่งการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ เสริมสร้างบทบาทที่เป็นเสาค้ำเชิงยุทธศาสตร์ของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและยกระดับการเปิดประเทศให้สูงยิ่งขึ้น
 
๔. ที่ประชุมเสนอว่า ในปี ค.ศ.๒๐๒๑ (พ.ศ.๒๕๖๔) การสร้างโครงสร้างใหม่แห่งการพัฒนาต้องมีก้าวแรกที่ดี โดยเร่งสร้างโครงสร้างใหม่แห่งการพัฒนาที่ถือการหมุนเวียนใหญ่ภายในประเทศเป็นหลักและให้การหมุนเวียนภายในประเทศกับการหมุนเวียนระหว่างประเทศเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องยึดการปฏิรูปโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานเป็นแนวทางหลักให้มั่นคง ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่ฝั่งอุปสงค์ คลี่คลายจุดอุดตัน แก้ไขจุดด้อย ทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยการผลิต การแบ่งปัน การไหลเวียน และการบริโภคมีความคล่องตัว ก่อให้เกิดความสมดุล รวมทั้งต้องให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างพลังขับเคลื่อนการพัฒนาภายในประเทศผ่านการลงลึกดำเนินการปฏิรูปและขยายการเปิดประเทศ ตลอดจนดำเนินภารกิจสำคัญให้ดี ได้แก่ (๑) เสริมสร้างพลังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์แห่งชาติ  (๒) เสริมสร้างขีดความสามารถด้านการควบคุมห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานด้วยตนเอง (๓) ยืนหยัดพื้นฐานทางยุทธศาสตร์แห่งการเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ  (๔) ผลักดันการปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างรอบด้าน  (๕) แก้ไขปัญหาเมล็ดพันธุ์และพื้นที่เพาะปลูกให้ดี (๖) เสริมสร้างการปราบปรามการผูกขาดและการป้องกันการขยายตัวอย่างไร้ระเบียบของเงินทุน (๗) แก้ไขปัญหาโดดเด่นด้านที่อยู่อาศัยในเมือง ต้องยืนหยัดแนวคิดว่าบ้านมีไว้เพื่ออยู่อาศัยไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร และ (๘) ดำเนินงานเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ดีเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงสุดภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) และลดลงเหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.๒๐๖๐ (พ.ศ.๒๖๐๓)
 
บทสรุป

การประชุมว่าด้วยงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางของจีนนั้นถือเป็นการวางระบบที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในการบริหารประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งนับตั้งแต่ปี ๑๙๙๔ (พ.ศ.๒๕๓๗) จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องรวม ๒๗ ครั้ง ทำให้มองเห็นปัญหา ตลอดจนทิศทางการปฏิบัติจากผลสำเร็จของงานด้านเศรษฐกิจในปีก่อน เพื่อวิเคราะห์และวางแผนงานเศรษฐกิจในปีถัดไป
 
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
 
ข้อมูลจากเว็บไซต์