ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนกับประเทศต่าง ๆ ภายใต้กรอบแนวคิดความมั่นคงใหม่ (New Security Concept) เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. แนวคิดความมั่นคงใหม่ โดยมีองค์ประกอบ ๓ ประการ ประกอบด้วย
๑.๑ ความมั่นคงร่วม (Common Security) โดยแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ซึ่งอาจเปรียบความมั่นคงร่วมเป็นวัตถุประสงค์ของแนวคิดความมั่นคงใหม่
๑.๒ ความร่วมมือด้านความมั่นคง (Cooperative Security) โดยมีมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence Building Measures) เช่น การพบปะพูดคุยปรึกษาหารือทางยุทธศาสตร์ การร่วมมือเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค การร่วมมือกันแก้ปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และการแลกเปลี่ยนทางการทหาร ฯลฯ ซึ่งเปรียบได้กับการเป็นแนวทาง (Approach) ของแนวคิดความมั่นคงใหม่
๑.๓ การพัฒนาความมั่นคง (Development Security) ให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งเปรียบได้กับการมีรากฐานที่สำคัญ (Foundation)
๒. การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในลักษณะของการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งนักวิจัยอิสระด้านรัฐศาสตร์ชาวอุซเบกิสถานชื่อ ดร.ฟาร์คู้ด โตลิปอฟ (Farkhod Tolipov) ได้ให้ความหมายของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไว้อย่างเด่นชัดว่า เป็นรูปแบบพิเศษของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีลักษณะประกอบด้วย
๒.๑ มีความเชื่อมั่นและเชื่อใจต่อกันอยู่ในระดับสูงของการเป็นหุ้นส่วนกัน
๒.๒ มีความตั้งใจที่จะร่วมมือระหว่างกันโดยมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว
๒.๓ ให้ความสนใจต่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ
๒.๔ มีจุดยืนที่ใกล้ชิดและผลประโยชน์ร่วมกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
๒.๕ มีสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระยะยาวกับการเป็นหุ้นส่วนทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
๓. รูปแบบพิเศษของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการจีนสองคนคือ โจเซฟ วาย เอส เฉิง (Joseph Y.S. Cheng) และจาง ว่านคุน (Zhang Wankun) ที่ได้นิยามความหมายของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ว่า เป็นลักษณะความสัมพันธ์ของสองประเทศที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมอย่างยิ่ง อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค มีนโยบายและแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการทหารไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีการจัดระดับของการเป็นหุ้นส่วน (The Hierarchy of Partnership) เป็นระดับต่าง ๆ ๖ ระดับ ได้แก่
๓.๑ ระดับที่ ๑ การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnerships) ระหว่างจีนกับรัสเซียและจีนกับสหรัฐฯโดยมุ่งการดำเนินการเพื่อรักษาความสงบและความมีเสถียรภาพของสภาวะแวดล้อมใหม่ทางการเมืองระหว่างประเทศ
๓.๒ ระดับที่ ๒ การเป็นหุ้นส่วนที่สมบูรณ์ (Comprehensive Partnerships) ระหว่างจีนกับฝรั่งเศส แคนาดา เม็กซิโก ปากีสถาน และอังกฤษ โดยมีความแตกต่างกันตามกรณีในแต่ละรายประเทศ เพื่อผลักดันการจัดระเบียบโลกใหม่ในระบบหลายขั้วอำนาจและเพื่อป้องปรามไม่ให้สหรัฐฯ แสดงความเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกในการครอบงำระบบระหว่างประเทศ
๓.๓ ระดับที่ ๓ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนของเสถียรภาพในระยะยาว (Consteuctive Partnership of Long-term Stability) ระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป (European Union: EU) เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่จะได้รับจากความสำคัญในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและตลาดการค้า
๓.๔ ระดับที่ ๔ การเป็นหุ้นส่วนบนพื้นฐานความเชื่อมั่นและการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี (Partnerships Based on Good-neighborliness and Mutual Trust) ระหว่างจีนกับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในผลประโยชน์พื้นฐานทางยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคนี้รวมทั้งการถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค
๓.๕ ระดับที่ ๕ การเป็นหุ้นส่วนของมิตรภาพและความร่วมมือ (Partnership of Friendship and Cooperation) ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือ (Partnership of Constructive Cooperation) ระหว่างจีนกับอินเดีย เพื่อรักษาความสงบในพื้นที่ตามแนวชายแดน
๓.๖ ระดับที่ ๖ การสร้างความเป็นหุ้นส่วน (Constructive Partnerships) ระหว่างจีนกับแอฟริกาใต้ รวมทั้งความสัมพันธ์ของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ (Relationship of Strategic Cooperation) ระหว่างจีนกับอิยิปต์และจีนกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและแหล่งพลังงาน
บทสรุป
จีนเห็นว่า โลกพัฒนาไปสู่การมีหลายขั้วอำนาจ รวมทั้งความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ และความซับซ้อนของผลประโยชน์ระหว่างประเทศ จึงทำให้จีนจำเป็นต้องแบ่งระดับความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ออกเป็นระดับต่างๆ เพื่อให้ได้มาและการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของจีน
ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
ข้อมูลจากหนังสือ
Cheng, Joseph Y. S. and Wankun, Zhang. (2004). “Patterns and Dynamics of China’s International Strategic Behavior” in Zhao, Suisheng.(ed.). Chinese Foreign Policy. New York: An East Gate Book, 179-206.
Shenxia, Zheng. (2008). “China’s Peaceful Development and Asia-Pacific Security” in China Association for Military Science. Peaceful Development and Security in the Asia – Pacific Region. Beijing: Military Science Publishing House., 8-15.
Tolipov, Farkhod. (2006). “Uzbakistan and Russia : Alliance Against A Mythic Threat?” in Central Asia-Caucasus Institute Analyst. (November 1)., 1-5.
Xuetong, Yuan. (2015). “China-U.S. Competition for Strategic Partners” in Foreign Policy. https://www.chinausfocus.com/foreign-policy/china-u-s-competition-for-strategic-partners )