การประชุมฟอรั่มความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRF ครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๗ เม.ย.๖๒ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ในภาพรวมของการประชุม BRF ครั้งที่ ๒ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทุกมิติ รวมทั้งการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดตัวหนังสือ “สี จิ้นผิงพูดเรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ฉบับภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสารนิเทศ คณะรัฐมนตรีจีนกับสำนักงานกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาต่างประเทศแห่งชาติจีน จากการรวบรวมบทความจำนวน ๔๒ เรื่องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี พ.ศ.๒๕๕๖ จนถึงเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.๒๕๖๑ ที่ได้บรรยายสรุปหลักการชี้นำ ความนัยที่สมบูรณ์ เป้าหมายและเส้นทางปฏิบัติของข้อริ่เริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เพื่อให้ประชาคมโลกเข้าใจและมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
๒. ในบริบทของประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุม BRF ในครั้งนี้ด้วย โดยประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมุ่งเน้นผลักดันในที่ประชุม ได้แก่
๒.๑ การเน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC 2025) และ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความโปร่งใส การเปิดกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วนและการเคารพกฏหมายระหว่างประเทศ
๒.๒ การขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย ๔.๐ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งของอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน
๒.๓ การผลักดันให้จีนใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ ACMECS ในการเป็นตัวเชื่อมจีนและอาเซียน และส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (Greater Bay Area - GBA) และกรอบความร่วมมือพื้นทีสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan - Pearl River Delta - PPRD) กับ EEC
บทสรุป
การประชุม BRF ครั้งที่ ๒ ในปีนี้ เจ้าภาพจีนได้จัดขึ้นต่อเนื่องจากการประชุม BRF ครั้งที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านต่างๆ โดยมีการประเมินว่า ได้ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นในไตรมาส ๓ ของปี พ.ศ.๒๕๖๑ กว่า ๙๓๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๑๙ จากปี พ.ศ.๒๕๖๐ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่นายกรัฐมนตรีไทยได้พบปะหารือกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เฉียง และ รองนายกรัฐมนตรีหาน เจิ้ง เพื่อหารือถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการสานต่อและผลักดันความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือจีน – ญี่ปุ่น ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC) ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในอนุภูมิภาคและภูมิภาค อันเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของจีนต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค และบทบาทของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ด้วย
ประมวลโดย : พลตรีไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์
https://eng.yidaiyilu.gov.cn/qwyw/rdxw/74380.htm
http://thai.cri.cn/20190425/97e3d02e-fe38-a48a-dd7c-fb7f5d3e54a6.html
http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=8926&filename=index
http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=8917&filename=index
http://www.xinhuanet.com/english/2018-12/11/c_137666561.htm