bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๓ มิ.ย.๖๑ : แนวคิดในการเชื่อมต่อการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีกับโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน

แนวคิดในการเชื่อมต่อการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีกับโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. การพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ จากการที่มีพื้นที่ครอบคลุม ๙ มณฑล ๒ มหานคร ในภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน นับตั้งแต่มหานครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย มณฑลเจียงซี มณฑลหูเป่ย มณฑลหูหนาน มหานครฉงชิ่ง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) และมณฑลกุ้ยโจว รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น ๒,๐๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีประชากรเกือบ ๖๐๐ ล้านคน หรือ ๔๐% ของชาวจีนทั้งหมด และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจในสัดส่วน ๔๐% ของมูลค่าเศรษฐกิจของจีนทั้งหมด จึงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงที่สุดของจีน และได้แบ่งออกเป็นเขตเศรษฐกิจ ๓ พื้นที่ได้แก่
        ๑.๑ พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนบน มีมหานครฉงชิ่งเป็นจุดศูนย์กลาง
        ๑.๒ พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลาง มีนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยเป็นจุดศูนย์กลาง
        ๑.๓ พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนล่าง มีมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นจุดศูนย์กลาง รองรับสินค้าที่ขนส่งมาจากจีนตอนในส่งออกสู่ทะเลเพื่อขนส่งไปยังต่างประเทศ

๒. ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๓ ของจีน (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของจีนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และสามารถเชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคอื่นๆของโลก นอกจากนี้ยังทำให้จีนมีบทบาทในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินลงทุนแก่ประเทศอื่น ๆ ผ่านการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุน และเพิ่มพูนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต

๓. ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกนั้น รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับเส้นทางเศรษฐกิจบนแม่น้ำแยงซีเป็นอย่างมาก เนื่องจากมองว่า มีโครงข่ายเชื่อมโยงทางน้ำและพื้นฐานของระบบการขนส่งทางน้ำที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพสามารถเติบโตขึ้นได้อีกมาก โดยเฉพาะมหานครฉงชิ่ง ที่อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจบริเวณแม่น้ำแยงซีตอนบน (ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว จากการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้นโยบายพัฒนาภาคตะวันตก หรือ Western Development Policy เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ จนต้องยกเป็นเมืองระดับมหานคร และแยกออกมาจากมณฑลซื่อชวนหรือเสฉวน) และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น แม้ว่าจะอยู่ด้านตอนใน ไม่ติดทะเล แต่สามารถใช้ประโยชน์จากการคมนาคมขนส่ง โดย
        ๓.๑ เส้นทางน้ำใช้แม่น้ำแยงซี จากเขตเศรษฐกิจบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนบน ที่มีมหานครฉงชิ่งเป็นจุดศูนย์กลาง ผ่านเขตเศรษฐกิจบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนกลาง ที่มีนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยเป็นจุดศูนย์กลาง ไปสู่เขตเศรษฐกิจบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนล่าง ที่มหานครเซี่ยงไฮ้เป็นจุดศูนย์กลางเพื่อขนส่งไปยังต่างประเทศทางทะเลและทางอากาศ
        ๓.๒ เส้นทางบกใช้เส้นทางรถไฟที่เรียกว่า “หยูซินโอว (渝新欧)" ซึ่งเริ่มเปิดบริการขนส่งสินค้าเมื่อวันที่ ๒๙ พ.ค.๕๘ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในเอเชียกลางไปสู่ยุโรปภายใต้โครงการ BRI โดยเริ่มจากมหานครฉงชิ่ง ผ่านเมืองหลานโจว เมืองอูลูมูฉี ออกจากประเทศจีนที่เมืองอาลาซานโข่ว ผ่านประเทศคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ สิ้นสุดปลายทางที่เมืองดุยส์บูวร์กของเยอรมนี รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๑๑,๑๗๙ กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ ๑๒ - ๑๓ วัน ทำให้ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเลสู่ยุโรปถึงกว่า ๒๐ วัน

บทสรุป

แนวคิดในการเชื่อมต่อการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีกับโครงการความริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI โดยมีมหานครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ ในกรอบแผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๓ ของจีน อันจะส่งผลให้ประชาชนจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีกำลังซื้อมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการของไทย เช่น ร้านอาหาร และสปา เป็นต้น นอกจากนี้ การที่มหานครฉงชิ่ง เป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟหยูซินโอว ที่ขนส่งสินค้าจากฉงชิ่งผ่านเอเชียกลางไปสู่ยุโรป ที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งทางบกระหว่างไทย-จีน ผ่านเส้นทาง R3A และ R3A+ (กรุงเทพฯ-คุนหมิงของมณฑลอวิ๋นหนานหรือยูนนาน-เฉิงตูของมณฑลซื่อชวนหรือเสฉวน) ล่าสุด รถไฟขนส่งสินค้าฉงชิ่ง-ยุโรปได้ขยายรางลงใต้สู่ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เมื่อต้นปีนี้ โดยเป็นการเชื่อมเส้นทางขนส่งระบบรางสู่ราง ที่เชื่อมโยงระหว่าง “ยุโรป-ฉงชิ่ง-อาเซียน” (เริ่มจากมหานครฉงชิ่ง ไปหนานหนิง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อออกจากประเทศจีนทางด่านผิงเสียง และต่อไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งในอนาคตมหานครฉงชิ่ง มีแผนการขยายรางเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายทรานส์เอเชีย หรือ Trans-Asian Railway ที่รวมถึงลาว ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์) เพื่อเพิ่มช่องทางขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าไทยที่จะสามารถกระจายสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นในอนาคต

ประมวลโดย : พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์

http://www.eastasiawatch.in.th/th/articles/politics-and-economy/505/

https://bit.ly/2J8TJBG

http://globthailand.com/china_0128/