จีนศึกษา (วันอาทิตย์ที่ ๓๐ ม.ค.๖๕) เกี่ยวกับข้อเสนอสำหรับการสร้างอนาคตที่ดีร่วมกันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดเนื่องในวาระครบรอบ ๓๐ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและ ๕ ประเทศในเอเชียกลาง (ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน) ผ่านทางวิดีทัศน์ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ ๒๕ ม.ค.๖๕ ณ กรุงปักกิ่ง โดยได้กล่าวสุนทรพจน์สำคัญในหัวข้อ “ร่วมมือกันเพื่อโชคชะตาร่วมกัน และไปสู่อนาคตด้วยกัน” (“携手共命运 一起向未来”) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. ความสำเร็จของความร่วมมือในรอบ ๓๐ ปี ระหว่างจีนและ ๕ ประเทศในเอเชียกลางอยู่ที่การเคารพซึ่งกันและกัน การเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและมิตรภาพ การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยหลักการทั้งสี่ดังกล่าวนี้ เป็นหลักประกันทางการเมืองเพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์มาอย่างมั่นคงและยาวนาน ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่ว่าจีนจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหนในอนาคต จีนจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีที่ไว้วางใจได้ เป็นหุ้นส่วนที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี และเป็นพี่ชายที่ดีของประเทศในเอเชียกลาง โดยจีนสนับสนุนประเทศในเอเชียกลางอย่างแน่วแน่ในการดำเนินตามเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพของประเทศของตน รวมทั้งสนับสนุนประเทศต่าง ๆ อย่างมั่นคงในการปกป้องอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของตน ตลอดจนการมีบทบาทมากขึ้นในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งจีนยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกลาง เพื่อสร้างประชาคมจีน-เอเชียกลางที่มีอนาคตร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
๒. ข้อเสนอแนะ ๕ ข้อ สำหรับการสร้างอนาคตที่ดีร่วมกันระหว่างจีนและ ๕ ประเทศในเอเชียกลาง ได้แก่ (๑) เสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน (๒) สร้างแถบความร่วมมือที่พัฒนาด้วยคุณภาพสูง (๓) เสริมความแข็งแกร่งในการรักษาสันติภาพ (๔) สร้างครอบครัวใหญ่ที่มีความหลากหลาย และ (๕) ร่วมกันรักษาหมู่บ้านแห่งการพัฒนาอย่างสันติทั่วโลก
บทสรุป ผู้นำของทั้ง ๕ ประเทศ แสดงความเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลาง ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ โดยทุกประเทศจะสนับสนุนเส้นทางการพัฒนาของกันและกันอย่างมั่นคง สนับสนุนซึ่งกันและกันในการปกป้องเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ ตลอดจนร่วมกันปกป้องความมั่นคงหลักและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของทั้ง ๖ ประเทศ และร่วมกันสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี รวมถึงความไว้วางใจซึ่งกันและกันในภูมิภาค
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://politics.people.com.cn/n1/2022/0126/c1024-32339694.html )