bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มิ.ย.๖๒ ทิศทางของโครงการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน ครั้งที่ ๘ (ตอนที่ ๖ – จบ) จากการที่ผู้เขียนได้รับอนุมัติให้เดินทางไปราชการร่วมการสัมมนาฯ ในระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๙ มิ.ย.๖๒ ที่เมืองเซี่ยะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน

มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ข้อคิดเห็นในเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-จีน จากผู้ทรงคุณวุฒิและผลงานการวิจัย
        ๑.๑ จีนคือหุ้นส่วนทางการค้าอันดับหนึ่งของไทย และไทยก็เป็นหุ้นส่วนทางการค้าอันดับที่สามของจีนในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน ในปีนี้ไทยได้จัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงได้รับเลือกจากสมาชิกรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงได้รับการพัฒนาต่อเนื่องหลายด้าน
       ๑.๒ ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)” โดยการชี้นำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นทั้งแผนยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ และจะช่วยสร้างสรรค์ประชาคมของมวลมนุษยชาติให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจีนจะเป็นผู้นำนวัตกรรมของโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถเป็นศูนย์กลางของคาบสมุทรอินโดจีนและสามารถเชื่อมต่อความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย รัฐบาลไทยจึงพยายามพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกของประเทศให้กลายเป็น “ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)” ที่จะช่วยเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่ริเริ่มโดยจีนทั้งในพื้นที่ทางบกและทางทะเล
        ๑.๓ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมีความใกล้ชิดในทุกระดับ มีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น มีวิวัฒนาการต่อเนื่องไปสู่ระดับการเป็นหุ้นส่วนและร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ความร่วมมือระหว่างสองประเทศครอบคลุมทุกมิติ ประกอบด้วย การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความเชื่อมโยงระดับประชาชน นอกจากนี้ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนยังส่งผลดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน

๒. ทิศทางและแนวโน้มของความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน
        ๒.๑ ไทยและจีนควรร่วมมือกันแสวงหาโอกาสใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะจากการที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเห็นชอบร่วมกันในการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน โดยประเทศไทยมีนโยบาย “ไทยแลนด์ ๔.๐” และประเทศจีนมีข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งที่ผ่านมาผู้นำของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันหารือและเห็นชอบร่วมกันที่จะสนับสนุนความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี ไตรภาคี (ไทย-จีน-ญี่ปุ่น) และพหุภาคี โดยมีโครงการที่สำคัญคือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อเมืองสำคัญในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองโครงการมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงทั้งระหว่างไทยกับจีนและจีนกับอาเซียน
        ๒.๒ ไทยและจีน ควรร่วมมือกันในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งนี้ เนื่องจากการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับทุกประเทศในภูมิภาค

๓. ข้อเสนอเพื่อยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-จีน
        ๓.๑ ส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันระหว่างไทย-จีนให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยทั้งไทยและจีนจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างกลไกการสื่อสารระหว่างกันในหลายระดับเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเจรจาและแก้ไขปัญหาความร่วมมือระดับสูง
        ๓.๒ การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อโครงข่ายภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในขณะที่จีนยังสามารถให้ร่วมมือกับไทยในการพัฒนาพลังการผลิตร่วมกันในบริเวณพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นได้ด้วย โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.๖๓ จะมีการจัดงานสัมมนาความร่วมมือทางการค้าระหว่าง ๓ ฝ่าย ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น และไทย อีกด้วย
        ๓.๓ การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนานวัตกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในจีน ได้ช่วยผลักดันการพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมและมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอุตสาหกรรมแบบใหม่ ส่งผลก่อให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดี มีการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยว นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีการยกระดับให้กลายเป็นนวัตกรรมระดับโลก ขณะที่ประเทศไทยที่ผ่านมาได้สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนารูปแบบธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะทำให้มีสินค้าไทยที่มีคุณภาพจำนวนมากสามารถจำหน่ายผ่านระบบการค้าออนไลน์ในประเทศจีน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป
        ๓.๔ การส่งเสริมและยกระดับคุณภาพความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยทั้งสองประเทศควรเพิ่มการบริการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและจีน และควรเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวของทั้งสองผ่าย นอกจากนี้ ควรเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
๓.๕ การยกระดับความเข้มแข็งในการติดต่อประสานงาน ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือบริเวณแถบแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ตลอดจนกลุ่มประเทศในเอเชียกลาง

บทสรุป
สถานการณ์การปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกและภูมิภาค ได้ท้าทายต่อการพัฒนาประเทศในยุคใหม่โดยเฉพาะภายใต้ระบบพหุภาคีนิยมแบบใหม่ ที่ประเทศต่างๆ ต้องยึดหลักการความเคารพ ความเสมอภาค และความร่วมมือ เพื่อร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ดังนั้น การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน จึงเป็นเวทีทางวิชาการที่มีความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนที่สร้างสรรค์ ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลของทั้งสองประเทศให้เกิดความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างและยกระดับการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล


ข้อมูลจาก
เว็บไซต์ของศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน วช. www.vijaichina.com

https://1th.me/Fpkb