จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๕ ม.ค.๖ ขอนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับจีนประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดลองมาร์ช ๕ (Long March-5) ที่เป็นหนึ่งในจรวดขนส่งทรงพลังมากที่สุดของโลก เมื่อวันที่ ๒๗ ธ.ค.๖๒ เพื่อภารกิจมุ่งสู่ดาวอังคารภายในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) อันสืบเนื่องมาจากความก้วหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน โดยเฉพาะภารกิจการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรของชุดจรวดขนส่งลองมาร์ช ที่มีส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติภารกิจทางทหารของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สืบเนื่องมาจากการที่จีนได้ส่งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา "เฟิงอวิ๋น ๔" (风云四号 / Fengyun 4) ขึ้นสู่อวกาศ จากสถานีส่งดาวเทียมซีฉาง เมืองซีฉาง มณฑลซื่อชวน (หรือเสฉวน) เมื่อวันที่ ๑๑ ธ.ค.๕๙ ได้เป็นผลสำเร็จ โดยถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดขนส่ง “ลองมาร์ช ๓ บี” (Long March-3B) เป็นดาวเทียมดวงแรก ของดาวเทียม อุตุนิยมวิทยายุดที่สอง ซึ่งถูกนำขึ้นสู่อวกาศ และเป็นดาวเทียมดวงแรกของจีนที่ใช้ระบบการรับรู้จากระยะไกล (Remote-Sensing) บนวงโคจรระดับสูง ซึ่งสำนักงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (the State Administration of Science, Technology and Industry for National Defense) เผยว่า ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาดวงใหม่จะเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของดาวเทียมบนวงโคจร ผ่านภาพที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบนชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งกลุ่มเมฆเหนือประเทศจีนและบริเวณรอบๆ ซึ่งจะทำให้การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาจีนแม่นยำมากยิ่งขึ้น
๒. ย้อนไปเมื่อวันที่ ๑๗ ต.ค.๕๙ จรวดขนส่ง ลองมาร์ช หรือฉางเจิง ๒-เอฟ (Long March 2F) กำลังขนส่งยานเสินโจว ๑๑ ที่มีมนุษย์อวกาศควบคุมฯ ทะยานขึ้นจากศูนย์ส่งยานอวกาศจิ่วเฉวียน กลางทะเลทรายโกบี ในมณฑลกันซู่ หลังจากหลายภารกิจทางอวกาศได้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อาทิ การส่งห้องปฏิบัติการ ทางอวกาศเทียนกง ๒ เป็นต้น โดยเฉพาะความสำเร็จของการปล่อยยานอวกาศเสินโจว ๑๑ พร้อมนักบินอวกาศสองนายขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก หรือการปฏิบัติภารกิจของสองมนุษย์อวกาศจีน ซึ่งใช้เวลายาวนานที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมา ทำให้จีนเข้าใกล้เป้าหมาย “สถานีอวกาศ” ของตัวเองมากยิ่งขึ้นทุกที
๓. หากย้อนไปถึงความสำเร็จของจีนในการยิงจรวด ลอง มาร์ช ๗ ซึ่งเป็นจรวดขนส่งรุ่นใหม่ของจีน ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มิ.ย.๕๙ ซึ่งทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารต้องตกตะลึง เพราะแค่การปล่อยจรวดเพียงครั้งเดียว ก็ได้เผยให้เห็นถึงการก้าวรุดหน้าไปหลายขุมในการพัฒนาสรรพาวุธในอวกาศของจีน ดังจะเห็นได้จากรายงานของ วอชิงตัน ฟรี บีคอน ( Washington Free Beacon) ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่า จีนเริ่มทดสอบยานร่อนความเร็วเหนือเสียงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ และยานนี้สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงถึง ๑๑,๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วย ขณะที่บางแหล่งข่าว ระบุว่า จีนอาจพร้อมนำมาประจำการได้ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๓ นี้
๔. ในขณะที่มีรายงานข่าวว่า สถาบันวิทยาศาสตร์จีนได้ส่งดาวเทียมสื่อสารควอนตัมดวงแรกของโลก เมื่อเดือน ก.ค.๕๙ โดยจีนเป็นชาติแรกในโลกที่สามารถพัฒนาดาวเทียมสื่อสารควอนตัม ส่งข้อมูลรหัสจากอวกาศซึ่งไม่สามารถจารกรรมลักลอบถอดรหัสได้ โดยขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จีน กำลังติดตั้งระบบ ในขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการส่งขึ้นสู่อวกาศ และกล่าวได้ว่าโครงการนี้คือการปฏิวัติการสื่อสารของโลก ทั้งนี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือโฟตอน (photon) มีพลังงานสูงมากและมีช่วงคลื่นสั้นมากไม่สามารถแยกออกหรือทำซ้ำ ซึ่งหมายความว่าหากใครพยายามถอดรหัสเจาะข้อมูล สัญญาณจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและตรวจจับรับรู้ได้ นักวิทยาศาสตร์จีนต่างมีความหวังว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะปกป้องระบบสารสนเทศสำหรับโลกไซเบอร์ในอนาคตได้มากขึ้นถึงร้อยละ ๑๒๐ และมีแผนที่จะใช้ดาวเทียมควอนตัมครอบคลุมการสื่อสารทั่วโลกภายในปี ค.ศ.๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) สำหรับภาคพื้นดินนั้น จีนยังได้สร้างเครือข่ายระบบสื่อสารควอนตัมของตนเอง เพื่อใช้ในภารกิจ ด้านความมั่นคงและป้องกันประเทศ ทั้งนี้ ดาวเทียมควอนตัมดวงแรกนี้ นักวิทยาศาสตร์จีนใช้เวลาพัฒนานานกว่า ๕ ปี และได้ส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อเดือน ก.ค.๕๙
บทสรุป
เมื่อปี ๒๐๐๓ จีนเป็นเพียงชาติที่ ๓ ที่ส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจร จากนั้นในเดือน ม.ค. ปี ๒๐๑๙ จีนก็กลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานสำรวจไปลงจอดบริเวณด้านมืดของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และเมื่อเดือน พ.ย. ปี ๒๐๑๙ จีนก็ประสบความสำเร็จในการทดสอบการร่อนลงจอดของยานสำรวจดาวอังคาร ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเตรียมการจัดส่งไปลงจอดบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ภายในปี ๒๐๒๐ นี้ ความสำเร็จด้านอวกาศของจีนดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีนจะสามารถไล่ตามสหรัฐฯ ได้ทัน โดยเฉพาะการแสดงความสามารถในการปล่อยดาวเทียมจารกรรมทางทหารขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจรสูงเหนือโลกประมาณ ๒๐,๐๐๐ กิโลเมตรได้ ซึ่งดาวเทียมเหล่านั้น จะเสมอชั้นกับดาวเทียมของสหรัฐฯ ที่ใช้สำหรับระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GPS และนอกจากนี้ การยิงจรวดลอง มาร์ช ๗ ก็บ่งชี้ได้ว่า เทคโนโลยีขีปนาวุธของจีนกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นใหม่ ซึ่งได้ช่วยในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางตงเฟิง ๒๖ (DF-26) และขีปนาวุธตงเฟิง ๒๑ ดี (DF-21 D) เจ้าของฉายา “เพชฌฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน” อันจะเป็นอันตรายต่อฐานทัพของสหรัฐฯ บนเกาะกวมได้ รวมทั้งในการยิงจรวดลอง มาร์ช ๗ ของจีนนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อทดสอบเทคโนโลยีสกัดขีปนาวุธฝ่ายข้าศึก อันจะช่วยต่อกรกับระบบต่อต้านขีปนาวุธขององค์การนาโต้ ตลอดจนช่วยให้ขีปนาวุธตงเฟิง ๒๖ (DF-26) ของจีนทำลายเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
ข้อมูลจากเว็บไซต์