bg-head-3

บทความ

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๕ เม.ย.๖๓ ความเคลื่อนไหวที่สำคัญของรัฐบาลจีนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

จีนศึกษา วันอาทิตย์ที่ ๕ เม.ย.๖๓ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่สำคัญของรัฐบาลจีนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

๑. ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ นอกเหนือจากการที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ลงตรวจงานในพื้นที่มณฑลเจ้อเจียง ระหว่างวันอาทิตย์ที่ ๒๙ มี.ค. – วันอังคารที่ ๑ เม.ย.๖๓ (ซึ่งจีนศึกษาได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันวาน) กล่าวคือ
       ๑.๑ เมื่อวันที่ ๔ เม.ย.๖๓ คณะรัฐมนตรีจีนได้จัดกิจกรรมไว้อาลัยระดับชาติ เพื่อแสดงความไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้กับโควิด-๑๙ และพี่น้องชาวจีนที่เสียชีวิตจากโรคระบาด โดยในวันดังกล่าวทั่วประเทศจีนและสถานทูตจีนประจำประเทศต่างๆ ได้ลดธงชาติลงครึ่งเสา พร้อมหยุดกิจกรรมบันเทิงในพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ ขณะที่ชาวจีนทั่วประเทศร่วมไว้อาลัยเป็นเวลา ๓ นาที โดยในเวลา ๑๐.๐๐ น. บรรดารถยนต์ รถไฟ และเรือ ต่างได้บีบแตร พร้อมกับการเปิดเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศ
     ๑.๒ เมื่อวันที่ ๒ เม.ย.๖๓ นายหวัง ปิง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการอุปโภค กระทรวงพาณิชย์จีน ได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า ปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ข้าวสาร ข้าวสาลี และข้าวโพด ในคลังมีปริมาณกว่า ๒๘๐ ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และหากไม่มีการนำเข้าก็จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนธัญญาหารแต่อย่างใด ขณะก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๕ มี.ค.๖๓ กระทรวงเกษตรและชนบทจีน ได้แถลงถึงการปฏิบัติตามมาตรการสนับสนุนการผลิตธัญญาหารต่างๆ เช่น ให้ค่าชดเชยแก่ผู้ผลิต เป็นต้น เพื่อประกันรายได้ของชาวนาที่เพาะปลูก ทั้งนี้ ปัจจุบัน พื้นที่ทำนาในฤดูร้อนของจีนมีความมั่นคง และการเติบโตของธัญญาหารดีกว่าปีที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายการเก็บเกี่ยวของปีนี้ โดยวิสาหกิจการเกษตรพยายามฟื้นฟูการทำงานและการผลิต ขณะที่อุปกรณ์การเกษตรสอดคล้องกับความต้องการของท้องที่ต่างๆ

๒. ย้อนไปเมื่อปี ๒๐๑๙ (พ.ศ.๒๕๖๒) ปริมาณการผลิตธัญญาหารของจีนสูงถึง ๖๖๔ ล้านตัน เพิ่มขึ้น ๐.๙% เมื่อเทียบกับปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) และถือเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ติดต่อกันในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณสะสมธัญญาหารในคลังมีเพียงพอ โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรจีน แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการผลิตธัญญาหารในปี ๒๐๒๐ (พ.ศ.๒๕๖๓) มีแนวโน้มที่ดี และคาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์เช่นกัน นอกจากนี้ จีนได้แสดงความมุ่งมั่นต่อบทบาทรักษาความมั่นคงทางธัญญาหารของโลก โดยเมื่อวันที่ ๔ มี.ค.๖๓ ในการประชุมครั้งที่ ๔๓ ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับรายงานปัญหาธัญญาหาร ซึ่งผู้แทนจีน ได้แถลงว่า ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดและประเทศที่มีความรับผิดชอบ จีนจะเข้าร่วมการบริหารความปลอดภัยทางธัญญาหารโลก และคุ้มครองระบบการค้าพาหุภาคีอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ เพื่อปฏิบัติตามกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) ของสหประชาชาติ

๓. สำหรับบทบาทของจีนในการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางธัญญาหารนั้น มีที่มาจากแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่กล่าวเน้นว่า “ชามข้าวของคนจีนจะต้องถือไว้อย่างมั่นคงด้วยมือของตัวเอง จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากในการยกระดับการผลิตข้าวและธัญพืชที่สำคัญ ให้มีความปลอดภัยและสามารถป้อนความต้องการบริโภคภายในประเทศได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดต่างประเทศ” โดยภายในปี ๒๐๒๒ (พ.ศ.๒๕๖๕) จีนจะมีความพร้อมในระบบข้อมูลเพื่อสร้างแผนที่พื้นที่เพาะปลูก การปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศและการควบคุมการเกษตรแบบแม่นยำ โดยเฉพาะการสร้างเขตพื้นที่เพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเขตคุ้มครองการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการพัฒนาศักยภาพในการผลิต โดยมีระบบการบริหารจัดการที่พร้อม และเป็นการทำเกษตรแบบสมัยใหม่

บทสรุป

หลังเกิดการระบาดของโควิด-๑๙ หลายประเทศพากันประกาศนโยบายจำกัดการส่งออกธัญญาหาร ทำให้อาจเกิดความกังวลว่า ธัญญาหารที่ขายในตลาดจีนจะไม่เพียงพอ จึงทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนต้องออกมาชี้แจง ในขณะที่มีรายงานว่า จีนประสบความสำเร็จในด้านความมั่นคงทางธัญญาหาร โดยใช้พื้นที่ไร่นาจำนวน ๙% ของทั่วโลก และทรัพยากรน้ำจืดจำนวน ๖% ของโลก เลี้ยงดูประชากรจำนวน ๒๐% ของโลก (จีนมีประชากร ๑,๔๐๐ ล้านคน) และได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จากความอดอยาก มาเป็นพอกินพอใช้ และอยู่ดีกินดี ทั้งนี้ หลังจากได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. ๑๙๔๙ (พ.ศ.๒๔๙๒) รัฐบาลจีนได้จัดการแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชน โดยถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญอันดับแรกในการบริหารบ้านเมือง และได้ออกสมุดปกขาวว่าด้วยธัญญาหารจำนวน ๒ ฉบับ ในปี ๑๙๙๖ (พ.ศ.๒๕๓๙) และปี ๒๐๑๘ (พ.ศ.๒๕๖๑) เพื่อรักษาความมั่นคงทางธัญญาหารของจีน ซึ่งมุ่งยืนหยัดในยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยการสร้างจุดยืนจากในประเทศ มีการประกันขีดความสามารถด้านการผลิต มีการนำเข้าอย่างพอควร และมีการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสนับสนุนการพัฒนารักษาความมั่นคงด้านธัญญาหารภายใต้เอกลักษณ์ของจีน

ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ 

https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/topics_665678/kjgzbdfyyq/t1765842.shtml 

http://thai.cri.cn/20200403/fb0bb2be-d312-57ca-58ff-a9c8656d40ad.html

http://thai.cri.cn/20200403/5fe49f1a-1c43-c59b-8b76-79366d1b7db8.html

http://thai.cri.cn/20200306/349cc596-7a66-bc1e-bf3d-f02a680e281b.html 

http://thai.cri.cn/20200305/72ed9516-a507-140d-15ae-4541cccfc64b.html 

http://thai.cri.cn/20191015/a203d090-dde2-e3a0-e55a-3eb3e51efc8f.html

http://thai.cri.cn/20191015/39749530-8bea-a1dd-b9e7-deb0575ac2cd.html

https://www.opsmoac.go.th/guangzhou-news-files-411891791063